กระทรวงอุตสาหกรรม คิ๊กออฟเปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs (SME Rescue Center) เป็นตัวกลางประสานงานให้ความช่วยเหลือ SMEs ไทย ดึงหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงิน สร้างเครือข่ายพร้อมช่วยฟื้นฟูให้แก่ผู้ประกอบ SMEs ทั้งทางด้านการเงิน การตลาดและความช่วยเหลือด้านการจัดการและแผนธุรกิจ พร้อมอัดฉีดเงินปลอดดอกเบี้ยผ่านเงินทุนพลิกฟื้น SMEs หวังสร้างให้ SMEs ไทย เป็นรากฐานความเข้มแข็งของภาคเศรษฐกิจให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการในตลาดโลกได้
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวในงานเปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs (SME Rescue Center) ว่า ภาครัฐมีนโยบายให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ของไทยให้มีขีดความสามารถการแข่งขันที่ดีพร้อมปรับโครงสร้างกลไกสนับสนุนและการขับเคลื่อน SMEs ให้เป็นระบบ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการบริการต่างๆ ของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ประกอบการ SMEs ที่ประสบปัญหาในการทำธุรกิจและการเข้าถึงบริการของภาครัฐทำให้การดำเนินธุรกิจประสบปัญหา จึงได้มอบนโยบายให้กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความช่วยเหลือดูแลผู้ประกอบการ SMEs ไทย ที่ประสบปัญหาด้านต่างๆ เช่น การขาดโอกาสทางการตลาด ด้านการจัดการและนวัตกรรม ปัญหาทางด้านการเงิน เพื่อให้กลับมาเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพขีดความสามารถจะแข่งขันในตลาดได้และก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ SMEs รุ่นใหม่ หรือ SMEs 4.0 ที่มีความเข้าใจด้านเศรษฐกิจและการตลาด รวมถึงใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจและช่วยขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของไทย
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs (SME Rescue Center) กล่าวว่า จากนโยบายดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs (SME Rescue Center) เพื่อเป็นช่องทางการรวบรวมปัญหาและแนวทางการฟื้นฟูผู้ประกอบการ SMEs ที่ขาดปัจจัยเอื้อต่อการพัฒนาความสามารถการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมให้กลับมาเข้มแข็งและธุรกิจเดินหน้าต่อได้อีกครั้ง โดยใช้การบริหารงานในรูปแบบคณะกรรมการจากหน่วยงานเครือข่ายโดยมี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่ากระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานและมีตัวแทนจากหน่วยงานเครือข่ายต่างๆ เข้าร่วมการจัดตั้งศูนย์แห่งนี้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวด้านการบริหารจัดการและบูรณาการแก้ปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการได้อย่างรวดเร็ว โดยในช่วงแรกจะมีที่ทำการให้บริการที่ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรม (BSC) ที่อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นการชั่วคราวไปก่อน หลังจากนั้นจะย้ายมาตั้งที่กระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป
สำหรับช่องทางการให้บริการของศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs (SME Rescue Center) มีจุดให้บริการกว่า 3,800 แห่งทั่วประเทศ และมีหน่วยคัดกรองวิเคราะห์ปัญหาและตรวจสอบข้อเท็จจริงของคำร้องที่ส่งผ่านหน่วยงานเครือข่ายต่างๆ ประมาณ 300 แห่งทั่วประเทศ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงินของภาครัฐและเอกชน เช่น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กรมบังคับคดี ศูนย์ดำรงชัยธรรม ธนาคารเอสเอ็มอี ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทยและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ที่เปิดให้ผู้ประกอบการ SMEs ประสบปัญหาส่งเรื่องร้องขอความช่วยเหลือ แล้วทางศูนย์ฯ จะนำข้อมูลวิเคราะห์และจัดชั้นแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เพื่อจัดลำดับและแนวทางแก้ไขปัญหาพร้อมส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ต่อไป
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นทางศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ได้จัดแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพแต่มีปัญหาด้านการเงิน เช่น ขาดสภาพคล่องหรือมีมูลหนี้มาก ภาครัฐก็จะสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนพลิกฟื้น SMEs เข้ามาสนับสนุนด้านเงินทุนหรือติดต่อสถาบันการเงินเข้ามาเจรจาประนอมหนี้เพื่อให้ธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการและเกิดการจ้างงานต่อ ส่วนกลุ่มที่ 2 กลุ่มที่มีศักยภาพแต่มีปัญหาด้านการจัดการ จะส่งเรื่องให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เข้ามาช่วยวางแผนบริหารจัดการทางด้านการตลาดเพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันให้ดีขึ้น และกลุ่มที่ 3 กลุ่มที่ยังมีศักยภาพในการฟื้นฟูไม่มากจะมีหน่วยงานเข้าไปช่วยแนะนำการปรับโครงสร้างธุรกิจให้กลับมาดำเนินการได้ หรือหากจำเป็นต้องเลิกกิจการ จะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการเหล่านี้ให้ไปสู่ธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสทางการตลาดที่ดีกว่าหรือเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในอนาคต
“เบื้องต้น ภาครัฐได้ให้การสนับสนุนเงินทุนจากแก่ผู้ประกอบการที่ผ่านกระบวนการฟื้นฟูและกลุ่มที่ผ่านการคัดกรองจากศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs (SME Rescue Center) จากกองทุนพลิกฟื้น SMEs ซึ่งมีวงเงินเริ่มต้นที่ 1,000 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการขออนุมัติเงินงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อนำมาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพแต่ประสบปัญหาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อจากสถาบันการเงินให้มีโอกาสได้รับสินเชื่อไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท ปลอดอัตราดอกเบี้ยโดยมีระยะเวลาให้กู้ 5-7 ปี เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจต่อไป” นายสนธิรัตน์ กล่าว
นอกจากนี้ ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs (SME Rescue Center) ยังทำหน้าที่ในการบริหารจัดการข้อมูลที่จะนำไปทำการวิเคราะห์ปัญหาเพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวนโยบายให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ไทยที่เหมาะ สมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านี้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจและมีความสามารถในการแข่งขันและก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ SMEs 4.0 ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ตามเจตนารมณ์ที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายไว้
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า สสว. เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs (SME Rescue Center)พร้อมให้ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร หรือศูนย์ OSS สสว. ซึ่งมี 11 ศูนย์ทั่วประเทศในขณะนี้ เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการที่ผู้ประกอบการจะติดต่อขอรับการช่วยเหลือ เพื่อเป็นสนับสนุนการดำเนินงานศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs(SME RESCUE Center) ของกระทรวงอุตสาหกรรม