วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ยกนิ้ว โปรเจค สมาร์ทแทงค์ ผลิตน้ำจากความชื้น คว้ารางวัล Go Green in The City 2016 ระดับประเทศ




ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านการจัดการพลังงาน ประกาศตัดสินทีม Inspire แนวคิด สมาร์ทแท้งค์ ผลิตน้ำจากความชื้น โดยทีมนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ชนะเลิศโครงการ “Go Green in the City” รุ่นที่ 6 

มร.มาร์ค เพลิทิเยร์ ประธานบริษัท ชไนเดอร์ อเล็คทริค ประเทศไทย เผยว่า “โครงการ Go Green In The City ของ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค เป็นโครงการเพื่อการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ในเชิงนวัตกรรมด้านการจัดการพลังงาน และสิ่งแวดล้อม โดยเป็นการแข่งขันในระดับโลก สำหรับนิสิต นักศึกษาที่มีแนวคิดช่วยโลก เพื่อช่วยให้เมืองต่างๆ มีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้น โดยชไนเดอร์ อิเล็คทริค จะเฟ้นหาแนวคิดที่สร้างสรรค์และทำได้จริงมากที่สุด โดยในทุกปีจะมีเงื่อนไขที่สำคัญ คือ 1 ในสมาชิกของทีมจะต้องเป็นนักศึกษาหญิง เพื่อส่งเสริมแนวคิดและบทบาทของผู้หญิงให้มีมากขึ้นในสังคม พร้อมกันนี้แนวคิดที่ดีที่สุดยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นโซลูชั่น ในส่วนของการจัดการพลังงาน และสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ได้อีกด้วย”

นายสรวุฒิ หรณพ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย และประธานการจัดงานฯ Go Green In The City 2013 ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ไทยแลนด์ เล่าว่า “ชไนเดอร์ อิเล็คทริค รู้สึกยินดีที่คนรุ่นใหม่มีความคิดในการช่วยเหลือสังคม และโลกใบนี้ โดยการนำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ วิเคราะห์กับปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม และนำมาใช้ในการแก้ปัญหาสังคมนั้นๆ โดยทีมชนะเลิศของเรา ทีม Inspire ที่ประกอบด้วยนาย ปฏิพล ธนารักษ์วุฒิกร และ นางสาว กนิษฐา นฤเทพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ได้ถ่ายทอดแนวคิดออกมาไม่ใช่เพียงถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่คือจิตใจที่มุ่งช่วยเหลือสังคมในพื้นที่ที่แห้งแล้ง ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้นาน ได้แก่การคิดค้น ‘สมาร์ทแท้งค์’ พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นการผลิตน้ำจากความชื้น แม้ในพื้นที่ที่แห้งแล้ง ด้วยหลักการควบแน่นเปลี่ยนจากความชื้นให้กลายเป็นหยดน้ำ โดยให้อากาศไหลผ่านคอยเย็น เกิดการควบแน่น เกิดหยดน้ำ ไหลผ่านระบบกรอง 3 ชั้น ได้แก่ คาร์บอน เซรามิค และ เรซิน เพื่อให้เกิดความสะอาดในระดับที่สามารถดื่มได้ ซึ่งความชื้นสัมพัทธ์ในประเทศไทยโดยเฉลี่ยคาดว่าน่าจะผลิตน้ำได้ 21ลิตรต่อชั่วโมงโดยต้นทุนคำนวณในการสร้าง ‘สมาร์ทแท้งค์’ แรกเริ่มประมาณ 20,000 บาท 

นายสรวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า พร้อมกันนี้ ผมขอแสดงความยินดีกับทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ โครงการ Dropless จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และทีมรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ โครงการ Ecodistrict Smartgrid จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย

“เรามีความเชื่ออย่างยิ่งว่า โครงการ Go Green In The City จะเป็นเวทีในการกระตุ้น หรือสร้างผู้มีแนวคิดในการช่วยเหลือสังคมหรือโลกใบนี้ แม้จะเป็นแนวคิด หรือเทคโนโลยีเล็กๆ ในวันนี้ แต่วันหน้าอาจจะเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่สิ่งหนึ่งของโลกนี้ก็เป็นได้” นายสรวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย