วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2559

มพ.ร่วมปราชญ์ชาวบ้าน ค้นคว้าหาสมุนไพรท้องถิ่น อ.ดอกคำใต้ จัดรวบรวมเป็นองค์ความรู้ ก่อนต่อยอดไปสู่ตำรับยาสมุนไพร




ดร.เนติ เงินแพทย์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา (มพ.) เผยถึง โมเดล สวนรุกขชาติตำบลบ้านถ้ำ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ว่า เป็นหนึ่งในโครงการ 1 คณะ 1 โมเดล ที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้ร่วมทำวิจัยศึกษาค้นคว้าหาพืชสมุนไพรท้องถิ่น เพื่อจัดทำเป็นข้อมูลและแหล่งความรู้ให้กับชุมชนและประชาชนโดยทั่วไป โดยมี นายแก้ว วันดี ประธานชมรมรักษ์แผนไทยตำบลบ้านถ้ำ ปราชญ์ชุมชน(หมอเมือง) ตัวแทนชุมชนร่วมดำเนินการ 

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเป็นการต่อยอดจากการศึกษาตำรับอาหารท้องถิ่นเพื่อนำมาใช้ในการบำบัดโรคและดูแลสุขภาพของชุมชน โดยภายหลังที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับฟังความต้องการในการพัฒนาชุมชน จนได้โจทย์การพัฒนาพื้นที่ป่าชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อปลูกจิตสำนึกให้ชุมชนเห็นความสำคัญของการรักษาป่าชุมชนและต้นน้ำ โดยระยะแรกได้นำนิสิตเข้าไปเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน จากปราชญ์ชาวบ้าน จึงได้รับรู้ว่ามีพันธุ์พืชสมุนไพรท้องถิ่นหลายชนิดที่เป็นชนิดที่หายาก และคนรุ่นใหม่ในชุมชนเริ่มลืมเลือนภูมิปัญญาในการนำสมุนไพรใกล้ตัวนี้มาใช้ประโยชน์ จึงได้ศึกษาชนิดของพันธุ์พืชและสมุนไพร รวมถึงการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรพื้นบ้าน และภายหลังเก็บรวบรวมข้อมูลได้แล้วเสร็จจะจัดทำเป็นรูปเล่มจำนวน 500 เล่ม พร้อมให้ความรู้ด้านการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรให้กับชุมชน

ดร.ภัคศิริ สินไชยกิจ สาขาวิชาชีวเคมีและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มพ. กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะได้เริ่มทำเป็นต้นไม้มีชื่อ โดยนำป้ายที่บอกชื่อและประโยชน์ไปติดไว้ในพื้นที่สวนรุกขชาติ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนโดยสามารถติดป้ายชื่อไปแล้วกว่า 100 ชนิด และในปี 2558 ที่ผ่านมา ทีมวิจัยได้ลงพื้นที่เดินสำรวจและคัดเลือกพืชสมุนไพรที่หายาก มีการจัดกลุ่มสมุนไพรในท้องถิ่น นำมาศึกษาวิจัยในเรื่องของสรรพคุณและสารออกฤทธิ์ การนำไปใช้ประโยชน์โดยเบื้องต้นเลือกนำมาศึกษาวิจัยจำนวน 30 ชนิดและเตรียมศึกษาเพิ่มเติมในตำรับยาสมุนไพรจากหมอเมือง หลังจากโครงการวิจัยแล้วเสร็จจะจัดทำเป็นศูนย์ความรู้ชุมชน แหล่งความรู้เพื่อช่วยสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีของคนในชุมชน โครงการดังกล่าวเป็นการเรียนรู้ที่จะบูรณาการร่วมกัน สร้างความรักและหวงแหนในทรัพยากรป่าไม้ชุมชนของบ้านถ้ำ และสร้างความใกล้ชิด เรียนรู้ปัญหา เพื่อก่อเกิดปัญญาที่นำไปใช้ได้จริง ระหว่างนักวิชาการ นิสิต คนในชุมชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน