About Us

วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เอสซีจี นำนวัตกรรมเซนเซอร์อัจฉริยะ ยกระดับเมืองไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้




เอสซีจี ขนนวัตกรรมล้ำยุคเข้าร่วมจัดแสดงในงาน Thailand Smart City 2024 นำนวัตกรรมเซนเซอร์ตรวจสอบแบบไร้สาย LPWAN ยกระดับอาคาร โรงงาน และชุมชนเมือง ไปสู่การใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะในทุกรูปแบบ เพื่อพัฒนาเมืองไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ คาดจะช่วยเพิ่มยอดขาย 20 – 30%

นายพัทธพล เรืองเดชวรชัย Business Development and Marketing Director บริษัท ไซไฟเซนต์ เอเชีย จํากัด ในเครือของ SCG เปิดเผยว่า ในการจัดงาน Thailand Smart City 2024 ปีนี้ เอสซีจี ได้เตรียมจัดแสดงเทคโนโลยีด้านสมาร์ทซิตี้ล่าสุด ที่เป็นอุปกรณ์เซนเซอร์ตรวจสอบแบบไร้สายประเภท LPWAN ซึ่งสามารถตรวจจับข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ผ่านเกตเวย์ และคลาวด์ของตัวเอง และนำไปแสดงข้อมูลผ่านแดชบอร์ดออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน

นอกจากนี้ ตัวเกตเวย์นั้นยังสามารถรองรับการรับ/ส่งข้อมูลจากเซนเซอร์ในแนวราบได้ไกลถึง 2 กิโลเมตร และในแนวดิ่งได้ในระยะ 20 – 30 เมตร ทำให้การติดตั้งเกตเวย์ 1 ตัว สามารถครอบคลุมระยะภายในอาคาร และจุดตรวจวัดต่าง ๆ ภายในโรงงานได้ทั้งหมด นอกจากนี้ตัวเซนเซอร์ส่วนใหญ่จะใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ซึ่งสามารถอยู่ได้ยาวถึง 2 ปี ทำให้ง่ายต่องานติดตั้งเป็นอย่างมาก และช่วยประหยัดในส่วนของงานติดตั้งลากสายเมื่อเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีแบบเก่า

“ระบบ Wireless Monitoring นี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดเวลา, ลดต้นทุน, และลดระยะเวลาทำงานลง ส่งผลให้มีภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการอาคารที่ต่ำลง อีกทั้งยังเพิ่มความน่าเชื่อถือให้สูงขึ้น เพราะ Sensor มีการตรวจวัดอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้ประกอบการสามารถตัดสินใจบนข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิเช่น การจัดการเรื่องพลังงานในอาคาร” นายพัทธพล กล่าว

สำหรับ การประยุกต์ใช้งานเซนเซอร์ในระบบ LPWAN นั้น สามารถนำไปใช้ในกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การแสดงผลคุณภาพอากาศภายในและภายนอกอาคารแบบ Real-time การตรวจสอบคุณภาพน้ำ การรักษาความปลอดภัย การจัดการพลังงาน การจัดการน้ำ การบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ของมอเตอร์ในโรงงานอุตสาหกรรม การตรวจสอบอุณหภูมิและความชื้นภายในพื้นที่จัดเก็บ และการ monitor asset ต่างๆในระบบโลจิสติกส์ เช่น การติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดในรถขนส่ง และพาเลทจัดวางสินค้า ส่งผลให้เราสามารถนำข้อมูลตำแหน่งของสินค้ามาแสดงผลผ่านแดชบอร์ด เพื่อตรวจสอบ และแจ้งเตือนการเคลื่อนไหวของสินค้าภายในอาคารสินค้า ทำให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการพื้นที่จัดเก็บของสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือ สามารถพิจารณาจัดส่ง Pallet จัดเก็บสินค้าไปเพิ่ม ในกรณีที่ Pallet ใน warehouse นั้นๆมีไม่เพียงพอ ระบบดังกล่าวจึงเข้ามาช่วยยกระดับให้อาคาร และเมือง ไปสู่ระบบอัจฉริยะครบวงจร เพิ่มความปลอดภัย และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังสามารถนำมาช่วยปรับปรุงยกระดับโรงงานไปสู่การเป็นโรงงานอัจฉริยะ โดยการติดตั้ง Edge-AI Vibration Sensor ที่เครื่องจักรสำคัญต่างๆของโรงงาน เพื่อแจ้งเตือนสัญญาณความผิดปกติของการทำงานของเครื่องจักรก่อนเกิดปัญหา ทำให้ทีมซ่อมบำรุงสามารถเข้าไปแก้ไข หรือ เตรียม Spare part ได้ก่อนที่เครื่องจักรจะเสียหายจริง และส่งผลให้ทั้งสายการผลิตต้องหยุดทำงาน ซึ่งจะสร้างความเสียหายในธุรกิจอย่างรุนแรง และหากติดตั้ง Energy meter ตาม process การผลิตต่างๆภายในโรงงานแล้ว ยังจะช่วยตรวจสอบการใช้พลังงานของแต่ละหน่วยการผลิต จึงทำให้ผู้บริหาร ผู้จัดการ ทราบถึงต้นทุนการผลิตแต่ละหน่วยการผลิตได้อย่าง Real-time จึงส่งผลให้สามารถปรับตัวได้ทัน ในยุค digital disruption ที่มีการแข่งขันที่สูง

สำหรับกลุ่มหมู่บ้าน อาคาร Office สมาร์ทซิตี้ โรงงาน รวมถึงกลุ่มโลจิสติกส์ เป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตในระดับที่สูง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการบริหารที่ค่อนข้างสูง การนำอุปกรณ์เซนเซอร์ตรวจสอบแบบไร้สาย LPWAN นี้ ไปประยุกต์ใช้งานในหลากหลายประเภท จะช่วยให้กิจการสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการบริหารลงได้อย่างมาก อาทิเช่น การลดในส่วนของการเดินจดมิเตอร์ค่าไฟฟ้าในแต่ละวัน หรือ การทำ auto report ในส่วนของเอกสารบิลเรียกเก็บค่าไฟฟ้าสำหรับการเช่าพื้นที่ภายในอาคาร

นอกจากนี้ในอนาคตที่หลากหลายภาคส่วนเริ่มมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนอาคาร รวมถึงเริ่มมีการทำ Platform การซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบของ PPA การติดตั้ง Energy meter ที่สามารถรับ/ส่งข้อมูลได้แบบ Real-time นั้น จึงจะเข้ามามีบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างมาก เพราะกิจการจะสามารถทราบได้ว่าปริมาณการซื้อขายไฟฟ้าในแต่ละภาคส่วนเป็นอย่างไร รวมถึงยังสามารถ monitor ในส่วนของ Grid stability ได้อีกด้วยในกรณีที่เกิดไฟฟ้าขัดข้อง ในกรณีของงานติดตั้ง Solar rooftopหรือ solar farm เองนั้น ทางเอสซีจีก็มีเจ้าหน้าที่ที่สามารถให้คำปรึกษา และออกแบบแพลตฟอร์มที่เหมาะสมได้ตามความต้องการของลูกค้าตั้งแต่ระดับครัวเรือน องค์กรขนาดใหญ่ ไปจนถึงผู้บริการจัดการเมืองอัจฉริยะ

ทั้งนี้ เอสซีจี มองว่า ประเทศไทยยังมีทิศทางการเติบโตของธุรกิจอุปกรณ์เซนเซอร์อัจฉริยะในระดับที่สูง เนื่องจากเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีโรงงานแบบดั้งเดิมอยู่เป็นจำนวนมาก และกระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ โดยโรงงานเหล่านี้ต่างก็ต้องการที่จะยกระดับไปสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0 ผ่านการปรับปรุงระบบการผลิตไปสู่การเป็นโรงงานอัจฉริยะที่ต้องอาศัยการสื่อสารข้อมูลระหว่างเครื่องจักรตลอดเวลา การที่โรงงานมีการจัดการข้อมูลแบบ Real-time นั้น จะช่วยให้สามารถ optimize ระบบการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้พลังงาน และลดต้นทุนการผลิต ทำให้สามารถแข่งขันในตลาดได้

นายพัทธพล กล่าวว่า ในการเข้าร่วมงาน Thailand Smart City 2024 จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างแบรนด์ ZETA ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และเป็นช่องทางในการแนะนำสินค้านวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ผู้เข้าชมได้รู้จัก ในงานดังกล่าวนี้ ทางบริษัทได้เตรียมทีมงานและผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ามาช่วยวิเคราะห์แก้ไขปัญหา รวมถึงเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาให้กับกิจการที่สนใจระบบดังกล่าว เพื่อยกระดับให้อาคารหรือโรงงานมีความ Smart มากยิ่งขึ้น ทางบริษัทคาดว่าการเข้าร่วมงานครั้งนี้จะช่วยเพิ่มยอดขายในปี 2568 ได้ประมาณ 20 – 30% ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 10 – 20 ล้านบาท ในส่วนของธุรกิจอุปกรณ์เซนเซอร์อัจฉริยะ ซึ่งในแต่ละปีที่เข้าร่วมงานก็ได้รับความสนใจมาก ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้นทุกปี

“อยากให้ผู้เข้าร่วมชมงานได้เข้ามาคุยกับทีมของเรา เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาของกิจการนั้นๆ ทางทีมมีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้คำแนะนำในเรื่องของการทำให้อาคาร หรือ โรงงานให้มีความ smart มากยิ่งขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายในด้านการบริหาร ลดระยะเวลาในการทำงาน และลดต้นทุนของกิจการในด้านต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน ซึ่งการติดตั้งเซนเซอร์เหล่านี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับข้อมูลต่างๆ แบบเรียลไทม์ ช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการบริหารจัดการ เพิ่มฐานข้อมูลในการต่อยอดไปสู่การนำ AI เข้ามาใช้ วิเคราะห์ และบริหารจัดการข้อมูล ส่งผลให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้มากยิ่งขึ้น”

โดยที่ผ่านมา ทางบริษัทได้เข้าไปติดตั้งอุปกรณ์เซนเซอร์ในหลายธุรกิจ อาทิเช่น การเข้าไปปรับปรุงการใช้พลังงานของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในเมืองพัทยา ผ่านการนำอุปกรณ์เซนเซอร์ตรวจวัดค่าคุณภาพอากาศในอาคาร รวมถึงการตรวจวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอาคาร หากปริมาณของก๊าซดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นแสดงว่ามีคนเข้ามามากขึ้น ระบบจะสั่งให้เปิดระบบนำอากาศจากภายนอกเข้ามาเพื่อช่วยให้คุณภาพอากาศดียิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันหากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง ระบบจะทำการปรับ damper ลดลง เพื่อลดการนำอากาศร้อนเข้ามาในอาคาร ระบบดังกล่าวจึงเข้ามาช่วยลดต้นในส่วนของระบบปรับอากาศของห้างสรรพสินค้า ผ่านการติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดทั่วทั้งบริเวณของห้างสรรพสินค้า

สำหรับผู้ที่สนใจนวัตกรรมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในรูปแบบต่าง ๆ สามารถเข้าชมได้ภายในงาน Thailand Smart City Expo 2024 โดยงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2567 ณ ฮอลล์ 3-4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สอบถามเพิ่มเติมได้ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 02-229-3526 e-mail : thailandsmartcity@nccexhibition.com หรือดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.thailandsmartcityexpo.com