About Us

วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการผ่าตัดรักษาโรคอ้วน โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ประสบความสำเร็จ ในการรักษาโรคอ้วนทุพพลภาพ สกัดโรคเรื้อรังที่คร่าชีวิตผู้ป่วยโรคอ้วน ด้วยนวัตกรรมการผ่าตัดกระเพาะอาหารและลำไส้ โดยวิธีส่องกล้องที่ทันสมัย




ปัจจุบันการเจ็บป่วยและเสียชีวิต (ก่อนวัยอันควร) ของคนไทยมีสาเหตุมาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Diseases; NCDs) และปัจจัยเสี่ยงที่เป็นผลจากปัญหาพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสมเพิ่มมากขึ้น การศึกษาภาวะโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย พบว่า “โรคอ้วน” เป็นปัจจัยเสี่ยงและภัยเงียบสำคัญ อันดับ 1 และอันดับ 6 ของการสูญเสียปีสุขภาวะในหญิงไทยและชายไทย โดยผู้ป่วยโรคอ้วนในประเทศไทย มีจำนวนมากขึ้น และกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขอยู่ในขณะนี้ 

จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติได้รายงานผลการสำรวจเมื่อไม่นานมานี้พบว่าในกลุ่มประชากรอายุ 11 ปีขึ้นไป ซึ่งมีทั้งหมด 55 ล้านคน กำลังประสบปัญหาภาวะโรคอ้วน น้ำหนักเกินมาตรฐานประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งติดอันดับ 5 ใน 14 ประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก และผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยพบว่ามีผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนสูงถึง ร้อยละ 36.5 และพบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มากกว่า 1 ใน 3 มีภาวะน้ำหนักเกิน (ดัชนีมวลกาย หรือ Body mass index; BMI ตั้งแต่ 25 กิโลกรัม/เมตร2 ขึ้นไป) ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า และพบผู้ที่มีภาวะอ้วน (BMI ตั้งแต่ 30 กิโลกรัม/เมตร2 ขึ้นไป) มากถึง 1 ใน 10 คน สำหรับภาคใต้ จากผลสำรวจพบว่าอุบัติการณ์ความชุกของภาวะอ้วนโดยรวม อยู่ที่ร้อยละ 34 โดยมีแนวโน้มผู้ป่วยโรคอ้วนสูงขึ้นทุกปี นอกจากนี้ยังพบว่าความอ้วนมีผลเสียทำให้เกิดโรคเรื้อรังอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคข้อเข่าเสื่อม ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ เป็นต้น ซึ่งโรคเรื้อรังเหล่านี้จำเป็นต้องให้การรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะมีผลต่อคุณภาพชีวิตและความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมาก ซึ่งคาดการณ์ว่าในปัจจุบันต้นทุนรวมต่อสังคมของภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนมีมูลค่าสูงกว่า 12,142 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.13 ของ GDP โดยแยกเป็นต้นทุนทางตรงจากค่ารักษาพยาบาลมีมูลค่าประมาณ 5,584 ล้านบาท ในขณะที่ต้นทุนทางอ้อมจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและการขาดงานมีมูลค่ารวม 6,358 ล้านบาท

ผศ.นพ.กำธร ยลสุริยันวงศ์ ประธานศูนย์ความเป็นเลิศด้านการผ่าตัดรักษาโรคอ้วน โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ปัญหาโรคอ้วน กำลังเป็นปัญหาทางสังคมไทย ซึ่งจะเห็นได้ว่า 1 ใน 10 คนของประชากรไทยในขณะนี้ มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน โรคอ้วนกลายเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังต่าง ๆ มากมาย แต่เมื่อได้ลดน้ำหนักตัวลงแล้ว โรคต่าง ๆ เหล่านี้จะค่อย ๆ หายไป โรคอ้วน ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ โรคนี้สามารถทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย คนอ้วนกลายเป็นคนที่ไม่ต้องการของสังคม บางคนอาจมองว่าความอ้วนนั้น ก่อให้เกิดปัญหาด้านรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงโรคอ้วนเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านกระดูกและข้อ เช่น โรคเก๊าท์ ปวดเข่า ปวดขา หรือปัญหาเกี่ยวกับภาวะดื้อต่ออินซูลิน โรคเบาหวานและไขมันในเส้นเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง และในบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ บางครั้งแพทย์พยายามรักษาโรคเรื้อรังต่าง ๆ รักษาเท่าไหร่ก็ไม่ได้ผล แต่เมื่อเริ่มรักษาโรคอ้วนแทน กลับทำให้โรคเรื้อรังเหล่านั้นจางหายไปไม่กลับมาเป็นซ้ำ เข้าสู่สังคมได้อย่างเป็นปรกติสุข มีหน้าที่การงานและอาชีพที่มั่นคงและได้รับการยอมรับจากสังคม

โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (มอ.) ได้ให้ความสำคัญของการส่งเสริมป้องกันและดูแลรักษาโรคอ้วนอย่างจริงจังและได้จัดตั้งทีมดูแลส่งเสริมป้องกันและรักษาโรคอ้วนขึ้น โดยมีทีมแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ สหสาขา ช่วยเหลือดูแลอย่างครบวงจรแบบองค์รวม จนถึงปัจจุบันได้เติบโตเป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการผ่าตัดรักษาโรคอ้วน โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (Songklanagarind Excellence Center For Obesity and Metabolic Surgery (SECOMS) ซึ่งได้รับการรับรองว่าเป็นสถาบันที่เป็นเลิศด้านการผ่าตัดรักษาโรคอ้วนจากสถาบัน Surgical Review Corporation (ประเทศสหรัฐอเมริกา) และเป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(Southeast Asia) ซึ่งเป็นทีมสหสาขาวิชาที่กำหนดแผนรักษาของผู้ป่วยแต่ละราย โดยให้ความรู้แก่ผู้ป่วยก่อนผ่าตัดระหว่างผ่าตัด และหลังการผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วน ซึ่งประกอบด้วย ศัลยแพทย์ผ่าตัดโรคอ้วน ศัลยแพทย์ตกแต่ง อายุรแพทย์หน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม อายุรแพทย์หน่วยโภชนศาสตร์ อายุรแพทย์โรคปอด อายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหาร วิสัญญีแพทย์ จิตแพทย์ โสตศอนาสิกแพทย์ พยาบาล ทีมงานโภชนาการ ทีมงานสิทธิประโยชน์ผู้ป่วย และทีมงานกายภาพบำบัด ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้รับการยอมรับว่าเป็นสถาบันชั้นนำของประเทศในการรักษาโรคอ้วนอย่างครบวงจร ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคอ้วนทุพลภาพหรือโรคอ้วนอันตราย เข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัดไปแล้วมากกว่า 1,000 ราย

ปัจจุบันการผ่าตัดโรคอ้วนจะทำโดยการผ่าตัดส่องกล้อง (Laparoscopic surgery) ทั้งหมด โดยจะมีเพียงรูแผลเล็ก ๆ ที่หน้าท้องประมาณ 4 - 5 รู ขึ้นอยู่กับเทคนิคการผ่าตัด ซึ่งจะทำให้ความเจ็บปวดภายหลังการผ่าตัดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิด ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วกว่า และเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า ชนิดการผ่าตัดมีอยู่หลายแบบด้วยกัน แต่ที่เป็นมาตรฐานและเป็นที่นิยม และมีทำในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้แก่

1. การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร (Sleeve Gastrectomy) ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดกระเพาะอาหารส่วนใหญ่ให้เหลือกระเพาะอาหารประมาณ 20% หรือเหลือความจุประมาณ 100 - 200 มิลลิลิตร โดยเหลือไว้เป็นลักษณะคล้ายท่อแป๊บหรือรูปกล้วย อาหารจะผ่านลงมาสู่กระเพาะอาหารที่เหลือและผ่านไปยังลำไส้เล็กได้ตามปกติ เพียงแต่มีความจุลดลงเท่านั้น ผู้ป่วยจะสามารถรับประทานอาหารได้เพียงไม่กี่คำ ก็จะรู้สึกแน่น และอิ่มเร็วขึ้น การผ่าตัดชนิดนี้มีความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนค่อนข้างต่ำกว่า การผ่าตัดแบบบายพาส แต่ประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักค่อนข้างดี ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ดีเท่าการผ่าตัดแบบบายพาสก็ตาม

2. การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารร่วมกับการลัดทางเดินอาหาร หรือ การผ่าตัดบายพาส(Gastric Bypass) ศัลยแพทย์จะทำการตัดกระเพาะอาหารส่วนต้นที่ต่อลงมาจากหลอดอาหาร ให้เหลือเป็นกระเปาะขนาดเท่าลูกปิงปอง หรือลูกกอล์ฟ ซึ่งมีความจุประมาณ 20-30 มิลลิลิตร หลังจากนั้นก็ตัดเอาลำไส้เล็กส่วนกลาง มาต่อเข้ากับกระเปาะกระเพาะอาหารที่ตัดไว้ และนำปลายลำไส้เล็กส่วนต้นมาต่อเข้ากับลำไส้เล็กส่วนกลาง อาหารจะผ่านลงมาสู่กระเปาะกระเพาะอาหารซึ่งมีขนาดเล็ก จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น หลังจากนั้นอาหารจะเคลื่อนผ่านไปยังลำไส้เล็กที่นำมาต่อไว้ อาหารจะยังไม่สัมผัสกับน้ำย่อยที่สร้างมาจากกระเพาะอาหารส่วนที่เหลือ และที่สร้างมาจากตับและตับอ่อน จนกว่าจะผ่านมาถึงบริเวณที่ลำไส้เล็กมาต่อกัน ซึ่งช่วงที่อาหารยังไม่ถูกย่อยโดยน้ำย่อย ลำไส้ก็จะไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้ นั่นคือกลไกลดการดูดซึมสารอาหาร

3. การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารร่วมกับการลัดทางเดินอาหาร แบบ เซดิ-เอส หรือ เซดิส (Single anastomosis duodenoileal bypass with sleeve gastrectomy: SADI-S) คือการผ่าตัดที่รวมเอาเทคนิคแบบ สลีฟ และบายพาสเข้าด้วยกัน ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดกระเพาะอาหารส่วนใหญ่ให้เหลือกระเพาะอาหารประมาณ 20% หรือเหลือความจุประมาณ 100 - 200 มิลลิลิตร เช่นเดียวกับการทำ sleeve gastrectomy และการทำบายพาสด้วยเทคนิคที่เรียกว่า duodenal switch โดย ตัดแยกลำไส้เล็กส่วน duodenum ตรง 2-3 ซม.จาก หูรูดกระเพาะอาหารส่วนล่าง (pylorus) แล้วนำไปต่อกับลำไส้เล็กส่วนปลาย (ileum) ให้อาหารไม่ผ่านส่วนอื่นของลำไส้เล็กส่วนต้นและส่วนกลาง (duodenum และ jejunum) เพื่อลดการดูดซึมสารอาหาร และยังกระตุ้นการหลั่ง gut hormone หลายตัวด้วยกัน เช่น GLP-1, PYY เป็นต้น ซึ่งจะทำให้รู้สึกอิ่ม และยังช่วยกระบวนการ glucose homeostasis ให้ดีขึ้นด้วย ซึ่งหมายถึงทำให้ผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีโรคเบาหวานร่วมด้วย สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้นหรือหายจากโรคเบาหวานได้ นอกจากนี้ยังมีกลไกอื่น ๆ ที่ช่วยในการลดน้ำหนัก และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เช่น change in bile acid circulation, change in gut microbiota เป็นต้น ด้วยการรักษาเทคนิคนี้ จะสามารถลดน้ำหนักได้มากกว่าวิธีอื่น และโอกาสที่โรคร่วมจะหายมีสูงกว่าวิธีอื่น ๆ

ด้าน อ.นพ.สิริพงศ์ ชีวธนากรณ์กุล ที่ปรึกษาศูนย์ความเป็นเลิศด้านการผ่าตัดรักษาโรคอ้วน โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ กล่าวว่า นิยามของภาวะอ้วนนั้น ในทางการแพทย์ส่วนใหญ่จะมีการแบ่งระยะของความอ้วนในหลายระดับด้วยกัน โดยมักอ้างอิงจากตัวเลขค่าหนึ่งที่เรียกว่า ค่าดัชนีมวลกาย หรือ ค่า Body Mass Index (BMI) โดยคำนวณได้จากสูตรดังนี้ ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) = น้ำหนัก (กิโลกรัม; kg) / ส่วนสูง2 (เมตร2; m2)

ซึ่งระดับความอ้วนที่แบ่งตาม WHO นั้น จะนิยามความอ้วนระดับที่ 1 เมื่อค่าดัชนีมวลกายมากกว่าหรือเท่ากับ 30 สำหรับระดับที่ 2 เมื่อค่าดัชนีมวลกายมากกว่าหรือเท่ากับ 35 และระดับที่ 3 เมื่อค่าดัชนีมวลกายมากกว่าหรือเท่ากับ 40 ส่วนในคนเอเชียจะนิยามความอ้วนจะน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนยุโรปหรืออเมริกา โดยเมื่อมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่าหรือเท่ากับ 25 ก็ถือว่าอ้วนแล้ว

หากกล่าวถึงระดับความอ้วนที่อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ ก็จะมีผลกระทบตั้งแต่เริ่มมีภาวะน้ำหนักเกินแล้ว โดยหากค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 25 ควรปฏิบัติตนโดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะถ้าดัชนีมวลกายมากกว่าหรือเท่ากับ 30 ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้สูง จึงควรปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดและควรเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์หรือนักโภชนาการร่วมกัน

ประโยชน์ของการรักษาโรคอ้วนโดยวิธีการผ่าตัด ได้แก่

1. น้ำหนักตัวลดลง (Weight loss) เป้าหมายหลักนั้นเพื่อที่จะลดน้ำหนักให้กลับมาสู่ระดับปกติหรือที่ค่าดัชนีมวลกายน้อยกว่า 25 กิโลกรัม/เมตร2 (BMI < 25 kg/m2) น้ำหนักจะลดลงมากน้อยเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของการผ่าตัด (Type of bariatric surgery) และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารและการออกกำลังกายของผู้ป่วยเป็นหลัก ส่วนใหญ่แล้วค่าน้ำหนักตัวที่ลดลงจะคิดเป็นร้อยละของน้ำหนักตัวที่ลดลง (Percentage of total weight lost) ทั้งนี้โดยทั่วไป การผ่าตัดสามารถทำให้น้ำหนักตัวลดลงได้ เฉลี่ยประมาณร้อยละ 25 – 40 ของน้ำหนักตัวตั้งต้น

2. สุขภาพดีขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ (Physical & Mental Health Improvement) ภายหลังการรักษาโดยการผ่าตัด นอกจากสามารถลดน้ำหนักตัวลงแล้ว ยังทำให้โรคร่วมที่เกิดจากความอ้วน ดีขึ้นหรือหายขาดได้อีกด้วย และที่สำคัญคือ อายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้น และคุณภาพชีวิตดีขึ้น

โดยในขั้นแรกของการรักษา แพทย์และนักโภชนากรจะพยายามให้คนไข้ลดน้ำหนักด้วยตนเองเป็นลำดับแรก ซึ่งแพทย์จะให้เวลาผู้ป่วยควบคุมน้ำหนักด้วยตนเองอย่างน้อย 3-6 เดือน และจะไม่แนะนำให้คนไข้หักโหมลดน้ำหนัก การลดน้ำหนักที่ถูกวิธี ต้องลดอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีหลักสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ “การควบคุมอาหาร” และ “การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม” แพทย์จะติดตามผลเป็นระยะเพื่อควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมไม่กลับมาอ้วนอีก แต่หากผู้ป่วยลดน้ำหนักด้วยวิธีการควบคุมอาหารและออกกำลังกายไม่สำเร็จ การผ่าตัดในการรักษาโรคอ้วนก้เป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่ง

ถ้าพูดถึงการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคอ้วน ผู้ป่วยหลายคนอาจยังมีความกลัว แต่การผ่าตัดทั้งหมดสามารถทำได้โดยวิธีการส่องกล้องมีแผลเล็กๆเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเปิดแผลกว้างเหมือนการผ่าตัดทั่วไป และการผ่าตัดดังกล่าวนั้น มีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตน้อยมาก แต่อย่างไรก็ตามการลดความอ้วนด้วยวิธีการธรรมชาติ ยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดน้ำหนัก ซึ่งนอกจากจะไม่ต้องกังวลกับภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัดแล้ว การลดน้ำหนักด้วยตนเอง ยังเป็นการเสริมสร้างวินัย และยังช่วยให้สุขภาพกาย สุขภาพจิตแข็งแรงอีกด้วย

ด้านบริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด โดย Mr. Paul Verhulst Vice President, Mainland Southeast Asia, Medtronic PLC. และคุณสุชาดา ธนาวิบูลเศรษฐ, Senior Country Director บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เมดโทรนิค เป็นผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีการดูแลสุขภาพที่มีประสบการณ์กว่า 2 ทศวรรษในประเทศไทย ได้สานต่อความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพจากหลากหลายภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ความมุ่งมั่นนี้ปรากฏผ่านโครงการความร่วมมือจำนวนมาก โดยเฉพาะกับมหาวิทยาลัยแพทย์และสาธารณสุขชั้นนำ โดยมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างกำลังคนด้านการดูแลสุขภาพที่มีทักษะผ่านการฝึกอบรมขั้นสูง และการวางกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถอย่างกระจายทั่วประเทศ แนวทางครอบคลุมนี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษาทันสมัยสำหรับประชาชน ผลักดันนวัตกรรมผ่านการวิจัย และยกระดับมาตรฐานศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดทั่วประเทศให้ทัดเทียมระดับสากล โดยส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศไทยสู่มาตรฐานสากล




บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด เล็งเห็นถึงความสำคัญของโรคอ้วนที่กำลังเป็นปัญหาทางสุขภาพที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในประเทศไทย บริษัทฯ ได้นำนวัตกรรมการผ่าตัดรักษาโรคอ้วนแบบแผลเล็ก (Minimal Invasive) ซึ่งเป็นการผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopy) มาใช้รักษาผู้ป่วยโรคอ้วนในประเทศไทย ส่งเสริมการให้ความรู้กับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้สามารถใช้เครื่องมือผ่าตัดให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด ผ่านความร่วมมือกับโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ชั้นนำที่เป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการทักษะการผ่าตัดผ่านกล้อง โดยเรียนเชิญศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วประเทศไทย เข้าร่วมเยี่ยมชมศูนย์ความเป็นเลิศด้านการผ่าตัดรักษาโรคอ้วน โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ระหว่างวันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ทางวิชาการด้านผ่าตัดรักษาโรคอ้วน และดูแลผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น โดยเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และให้ความรู้ ได้แก่ ศัลยแพทย์, วิสัญญีแพทย์, อายุรแพทย์, พยาบาลห้องผ่าตัด, นักโภชนาการ, นักกายภาพบำบัด และทีมเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ทาง บริษัทฯ มีความมุ่งหวังให้ความร่วมมือในครั้งนี้จะสามารถยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์การกลางเรียนการสอนในการผ่าตัดรักษาโรคอ้วนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ในอนาคต

สำหรับผู้สนใจปรึกษาเรื่องโรคอ้วน สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการผ่าตัดรักษาโรคอ้วน โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ Tel : 06-2580-1122 , 0-7445-1760 ถึง 1 หรือ เฟซบุ๊ก : ศูนย์การผ่าตัดรักษาโรคอ้วน โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (www.facebook.com/Songklanagarind.Obesity.Center) หรือเว็บไซต์ https://secoms.medicine.psu.ac.th พร้อมช่องทางการรับบริจาคได้ที่ “กองทุนดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนแบบองค์รวม ”บริจาคได้ที่ : สำนักงานมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ชั้น 1 อาคารโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โทร : 0-7445-1599 หรือ บริจาคผ่านธนาคาร : ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชื่อบัญชี : มูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ประเภทออมทรัพย์ เลขที่บัญชี : 565-2-09777-0