About Us

วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2567

‘บมจ.โพลีเน็ต หรือ POLY’ เดินหน้าสร้าง New S-curve มุ่งพัฒนานวัตกรรมสินค้ากลุ่มเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์หนุนการเติบโตโดดเด่น




‘บมจ.โพลีเนต’ หรือ POLY เดินหน้าสร้าง New S-curve มุ่งพัฒนานวัตกรรมสินค้ากลุ่มเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูง หนุนการเติบโตอย่างโดดเด่น ขณะที่ครึ่งปีแรก 2567 สามารถทำกำไรสุทธิเติบโตสูงถึง 117% เผยครึ่งปีหลังสินค้าทุกกลุ่มมีแนวโน้มเติบโตดี คาดกลุ่มเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ทำกำไรเติบโตโดดเด่น เตรียมผลิตสินค้าอุปกรณ์ผ่าตัดทรวงอก (Chest drain for surgery) และกลุ่มชิ้นส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ รับโอกาสผู้ผลิตยานยนต์ย้ายฐานการผลิตมายังไทย

นางกาญจนา เหลารัตนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โพลีเน็ต จำกัด (มหาชน) หรือ POLY ผู้ผลิตสินค้าประเภทยาง พลาสติก และซิลิโคนขึ้นรูปตามความต้องการของลูกค้า ประกอบด้วย 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มชิ้นส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive) 2.กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Products) และ 3.กลุ่มเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical) โดยใช้นวัตกรรมขั้นสูงในการผลิตสินค้า และมีความสามารถในการผลิตแบบครบวงจร (One-Stop Services) ตั้งแต่การร่วมออกแบบผลิตภัณฑ์ ผลิตแม่พิมพ์ คิดค้นพัฒนาสูตรการผลิตวัตถุดิบ ตลอดจนการขึ้นรูปชิ้นงาน

ทั้งนี้ POLY ได้เล็งเห็นโอกาสการเติบโตของกลุ่มเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ในทวีปยุโรปและอเมริกา ที่ประชาชนหันมารักษาตัวแบบ Homecare จึงได้รุกพัฒนานวัตกรรมสินค้าในกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนรายได้มีการเปลี่ยนแปลง ล่าสุดในครึ่งปีแรก 2567 (มกราคม-มิถุนายน) กลุ่มเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ดี มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีสัดส่วน 14% ขณะที่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคมีสัดส่วน 20% ลดลงจากปีก่อนที่มีสัดส่วน 24% และกลุ่มชิ้นส่วนอุตสาหกรรมยานต์ยนต์ มีสัดส่วนรายได้อยู่ 61%-62% ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยบริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวมทั้งสิ้น 475 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 94 ล้านบาท เติบโต 117% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเป็น 29.1% จาก 20.7% หรือเพิ่มขึ้น 8.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้กลุ่มเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นค่อนข้างสูง จากการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ เช่น การพัฒนาแม่พิมพ์ การพัฒนาสูตรยาง ตลอดจนการพัฒนาขั้นตอนการผลิตโดยใช้หุ่นยนต์รวมถึงระบบ Automation สำหรับการผลิตและระบบตรวจสอบคุณภาพ ทำให้ใช้แรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยยังรักษาคุณภาพของสินค้าไว้ได้ การใช้โซลาร์เซลล์ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อช่วยลดปริมาณการซื้อไฟฟ้า ประกอบกับต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรลดลงจาก 0.91 – 1.55 บาทต่อหน่วย เป็น 40 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ต้นทุนขายรวมลดลงจาก 44.1% เหลือ 38.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร POLY กล่าวถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจครึ่งปีหลัง 2567 ว่ามีแนวโน้มเติบโตได้ดีในทุกกลุ่มสินค้า โดยกลุ่มชิ้นส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ แม้ยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยลดลงจากประมาณ 920,000 คัน เป็น 760,000 คันต่อปี หรือลดลงประมาณ 17% อย่างไรก็ตามตลาดรถยนต์ต่างประเทศยังคงมีการเติบโต โดย POLY ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มเติมจากลูกค้าในประเทศสหรัฐอเมริกาอันเนื่องมาจากการย้ายฐานการผลิต ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มผลิตแม่พิมพ์แล้ว และคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้จากค่าแม่พิมพ์ได้ในไตรมาสที่ 3-4 ของปี 2567 โดยหลังจากผลิตแม่พิมพ์แล้วเสร็จก็จะเริ่มผลิตชิ้นงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้แนวโน้มในไตรมาสที่ 3-4 มีการเติบโตจากทั้งรายได้ค่าแม่พิมพ์ และรายได้จากการผลิตชิ้นงาน

ขณะที่ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค POLY ได้รับคำสั่งซื้อให้ผลิตสินค้าใหม่ที่มีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต ซึ่งได้รับออเดอร์เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีคำสั่งผลิตสินค้าอื่นๆ ที่กำลังจะตามมาอีกในเร็วๆ นี้ ด้านกลุ่มเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ เนื่องจากฐานลูกค้าส่วนใหญ่ของ POLY อยู่ในทวีปยุโรปและอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีต้นทุนค่ารักษาพยาบาลค่อนข้างสูง ทำให้การรักษา Homecare ได้รับความนิยมและยังคงตอบโจทย์กับผู้ใช้งาน โดยในไตรมาส 4 จะเริ่มผลิตสินค้าใหม่ ได้แก่อุปกรณ์สำหรับการผ่าตัดทรวงอก (Chest drain for surgery) เป็นต้น

POLY ยังคงพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างสม่ำเสมอ 4 ด้าน ได้แก่ (1) การพัฒนาวัตถุดิบ โดยใช้จุดแข็งของกระบวนการผลิตที่ครบวงจร และมี Mixing line ที่ใช้สำหรับผสมและพัฒนาวัตถุดิบ ทำให้สามารถพัฒนาวัตถุดิบที่ไม่มีขายในท้องตลาดและนำมาใช้สำหรับการผลิตได้ จึงตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ทุกด้านอย่างรวดเร็ว (2) พัฒนากระบวนการลดของเสียผ่านองค์ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์ ตลอดจนการรีไซเคิลวัตถุดิบโดยที่ยังรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไว้ได้ (3) ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยนำระบบ Automation เข้ามาพัฒนาทั้งกระบวนการผลิตและอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ในการผลิตให้สอดคล้องกับขั้นตอนการทำงาน ลดความผิดพลาดในการทำงาน เช่น การใช้ระบบ Camera inspection หรือหุ่นยนต์ และ (4) การพัฒนาแม่พิมพ์ โดย POLY มีโรงงานผลิตแม่พิมพ์พร้อมกับเครื่องจักรคุณภาพสูง ทำให้สามารถผลิตแม่พิมพ์ที่มีคุณภาพสูง หรือดัดแปลงแม่พิมพ์ให้มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถบำรุงรักษาแม่พิมพ์ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ได้ตลอดเวลา

นายศรีชัย เหลารัตนา รองกรรมการผู้จัดการสายงานการตลาด POLY กล่าวว่า ในครึ่งปีหลัง POLY มีแผนขยายฐานลูกค้าใหม่ทุกกลุ่มธุรกิจ โดยกลุ่มชิ้นส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ ยังคงเดินหน้าผลิตชิ้นส่วนที่ใช้นวัตกรรมขั้นสูงให้กับผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ที่ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ได้ใช้กลยุทธ์การเติบโตจากลูกค้าปัจจุบันที่เป็นแบรนด์ระดับโลก (Global brand) ซึ่งมีผลิตภัณฑ์หลากหลายและตลาดที่กระจายอยู่ในหลายประเทศ โดยสร้างความเชื่อมั่นและส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพ ตรงเวลา และราคาที่แข่งขันได้ โดยตั้งเป้าหมายเป็นฐานการผลิตสำคัญ รองรับการขายสินค้าในหลายทวีปทั่วโลก และ กลุ่มเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีแผนการตลาดเพื่อที่จะเพิ่มลูกค้าใหม่ผ่านการออกงาน Exhibition และ Medical fair ในฐานะผู้ผลิตที่มี Innovation และมีมาตรฐานสูง

“ครึ่งปีหลัง 2567 เราประเมินว่ากลุ่มเมดิคอลจะผลักดันกำไรเติบโตอย่างโดดเด่น เนื่องจากรายได้มีการเติบโตและเป็นกลุ่มที่มีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูง และเป็นสินค้ากลุ่มที่ได้รับสิทธิประโยชน์จาก BOI ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ส่วนกลุ่มที่มีการเติบโตด้านรายได้ที่โดดเด่นคาดว่าจะเป็นกลุ่มออโตโมทีฟ เพราะจะมีรายได้เข้ามาในช่วงไตรมาสที่ 3-4 จากค่าแม่พิมพ์และค่าผลิตชิ้นงาน จากการย้ายฐานการผลิตจากอเมริกามาที่ POLY” นายศรีชัยกล่าว