วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2566

ดีพี เวิลด์ เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ ชี้โลกาภิวัตน์เกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อหลายบริษัทย้ายฐานการผลิตใกล้ประเทศมากขึ้น


จำนวนบริษัทที่ย้ายฐานการผลิตบางส่วนกลับบ้านเพิ่มขึ้นสองเท่าในปีที่ผ่านมา

บริษัท 96% กำลังเปลี่ยนแปลงซัพพลายเชนของตน เนื่องด้วยเหตุการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์

บริษัทมากกว่าครึ่งกำลังย้ายการดำเนินงานกลับประเทศ เพื่อบรรเทาผลลัพธ์จากการหยุดชะงักที่อาจเกิดขึ้นทั่วโลก

ดาโวส, สวิตเซอร์แลนด์ - พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์ - การวิจัยใหม่เผยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในยุคโลกาภิวัตน์ เมื่อบริษัทต่าง ๆ เร่งย้ายการผลิตให้ใกล้บ้านมากขึ้น เพื่อป้องกันตนเองจากการหยุดชะงักของซัพพลายเชน ในขณะที่นโยบายกีดกันทางการค้าที่มีมากขึ้นกำลังแบ่งแยกโลกเป็นกลุ่มการค้าต่าง ๆ

รายงานเทรด อิน ทรานสิชัน (Trade in Transition) ฉบับล่าสุด ซึ่งดีพี เวิลด์ (DP World) มอบหมายให้อีโคโนมิสต์ อิมแพกต์ (Economist Impact) เป็นผู้จัดทำ ได้รวบรวมมุมมองของผู้นำบริษัทในขณะที่พวกเขาสำรวจการหยุดชะงักครั้งล่าสุดในการค้าโลก ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในยูเครน อัตราเงินเฟ้อ ไปจนถึงการสานต่อนโยบายล็อกดาวน์คุมโควิดในตลาดบางแห่ง

รายงานดังกล่าวได้ปรากฏให้เห็นผลลัพธ์สำคัญ โดยบริษัท 96% กำลังเปลี่ยนแปลงซัพพลายเชนของตน เนื่องด้วยเหตุการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์

การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็ว ในช่วงเวลาเพียงหนึ่งปี จำนวนบริษัทที่ย้ายฐานการผลิตและซัพพลายเออร์ของตน ไม่ว่าจะไปยังตลาดในประเทศของตนหรือบริเวณใกล้เคียง ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับปี 2564 อันเป็นผลจากความพยายามในการลดต้นทุนและความเสี่ยงของการหยุดชะงัก

แต่การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด โดยบริษัท 27% กำลังลดความยาวของซัพพลายเชนเนื่องด้วยเหตุการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามในยูเครน แต่อีก 33% วางแผนที่จะขยายไปสู่ตลาดที่มีเสถียรภาพและโปร่งใสมากขึ้น

ภัยคุกคามเงินเฟ้อ

ผู้บริหารราว 30% มองว่าภัยคุกคามอย่างต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลกระทบด้านลบที่สำคัญที่สุดต่อการค้าในอีกสองปีข้างหน้า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อปรากฏให้เห็นในต้นทุนการผลิต ตั้งแต่การขาดแคลนอุปทาน และการขนส่ง ไปจนถึงต้นทุนด้านพลังงานที่สูงและข้อจำกัดด้านความสามารถในการขนส่ง

ในกรณีของการกวดขันทางการเงินนั้น บริษัทต่าง ๆ ทั่วยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชียแปซิฟิกคาดการณ์ว่า การส่งออกจะต่ำกว่าสถานการณ์ปกติอยู่ 1% เนื่องจากการผลิตและอุปสงค์ลดลง

หากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงดำเนินต่อไป การส่งออกในตะวันออกกลางและอเมริกาใต้คาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยลดลง 3.52% และ 2.74% ตามลำดับ มีเพียงแอฟริกาเท่านั้นที่คาดว่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 0.26%

โลกที่แบ่งแยก

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม 10% ยังมองว่า การแบ่งแยกเป็นกลุ่มการค้าต่าง ๆ ขัดขวางการค้าระหว่างประเทศไม่ให้เติบโต ซึ่งนอกเหนือจากสงครามในยูเครนแล้ว ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีนและสงครามไซเบอร์ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเดินหน้าต่อไปได้ไม่ดีมากนัก ก่อให้เกิดนโยบายกีดกันทางการค้าที่มากขึ้น เช่น ร่างกฎหมายโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐ (US Infrastructure Bill) และกฎหมายชิปและวิทยาศาสตร์ (CHIPS and Science Act) ซึ่งมุ่งสร้างแรงจูงใจและให้ความสำคัญกับการผลิตของสหรัฐและอเมริกาเหนือ นโยบายกีดกันทางการค้าที่คล้ายกันนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ระบบการค้าโลกแตกแยก

ภาคธุรกิจกำลังหาวิธีรับมือและเติบโต ซึ่งแนวทางรับมืออย่างหนึ่งคือการปรับเปลี่ยนซัพพลายเชน ไม่ว่าจะด้วยการกระจายความเสี่ยง การแบ่งภูมิภาค หรือการปรับโครงสร้างใหม่เพื่อสร้างความยืดหยุ่น

การสำรวจความเห็นผู้บริหารบริษัท 3,000 รายทั่วโลกพบว่า บริษัทในอเมริกาเหนือและยุโรปมีแนวโน้มที่จะเอาท์ซอร์สบริการของตนมากกว่าครึ่งหนึ่งภายในภูมิภาค ตามมาด้วย 40% ของบริษัทในอเมริกาใต้ 36% ในตะวันออกกลาง 32% ในเอเชียแปซิฟิก และ 18% ในแอฟริกา ที่ว่าจ้างบุคคลภายนอกในภูมิภาคของตน

การนำเทคโนโลยีไปใช้อย่างแพร่หลายเป็นอีกวิธีหนึ่งในการสร้างความยืดหยุ่นในซัพพลายเชน โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 35% กล่าวว่าพวกเขากำลังใช้โซลูชันอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดตามและตรวจสอบสินค้า ขณะที่อีก 32% กำลังใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อช่วยให้ทำธุรกิจกับลูกค้าหรือซัพพลายเออร์ได้โดยตรง

สุลต่านอาเหม็ด บิน สุลาเยม ( Sultan Ahmed Bin Sulayem) ซีอีโอและประธานกรรมการดีพี เวิลด์ กรุ๊ป กล่าวในงานเปิดตัวรายงานดังกล่าวที่การประชุมสภาเศรษฐกิจโลกในดาโวสว่า

"รายงานนี้เป็นหลักฐานที่จับต้องได้ว่าโลกาภิวัตน์กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เมื่อบริษัทต่าง ๆ ถูกบีบให้ต้องปรับตัวเข้ากับความท้าทายใหม่ ๆ การย้ายฐานการผลิตให้ใกล้ชิดกับลูกค้าขั้นสุดท้ายมากขึ้น ช่วยให้บริษัทต่าง ๆ ลดจำนวนจุดติดต่อที่เกี่ยวข้องในซัพพลายเชน และทำให้สินค้าไหลได้อย่างยืดหยุ่นมากขึ้นทั่วโลก แต่สภาพแวดล้อมทางการค้าเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ความท้าทายต่อไปที่จะเปลี่ยนแปลงแนวโน้มเหล่านี้คือการชะลอตัวของเศรษฐกิจในตลาดระดับภูมิภาค ความคล่องตัว การมองเห็นแบบเรียลไทม์ และความสามารถด้านซัพพลายเชนแบบ end-to-end จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นใจว่า บริษัทต่าง ๆ ค้นหาประสิทธิภาพใหม่ ๆ ต่อไปได้ในสภาพแวดล้อมที่ท้าทายมากขึ้น"

จอห์น เฟอร์กูสัน ( John Ferguson) หัวหน้าฝ่ายแนวปฏิบัติโลกาภิวัตน์ใหม่ จากอีโคโนมิสต์ อิมแพกต์ กล่าวเสริมว่า

"การรวมกลุ่มในภูมิภาคและการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศกำลังเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ไม่น่าแปลกใจเมื่อคำนึงถึงต้นทุนที่สูงขึ้นสามเท่า ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น และแรงจูงใจหรือข้อกำหนดของรัฐบาลในการดำเนินการดังกล่าว นอกจากนี้ ธุรกิจในทศวรรษก่อน ๆ นั้นเน้นที่ราคา คุณภาพ และการส่งมอบเท่านั้น แต่ตอนนี้พวกเขาต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เศรษฐกิจด้วย เช่น ความยืดหยุ่นและความยั่งยืน ทั้งหมดนี้เข้ามาพลิกโฉมซัพพลายเชนอย่างมาก ซึ่งเราได้เห็นทั้งในผลการสำรวจและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าโลก"

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่

เกี่ยวกับเทรด อิน ทรานสิชัน

รายงานเทรด อิน ทรานสิชัน (Trade in Transition) ฉบับนี้เป็นฉบับที่สามแล้วที่ดีพี เวิลด์ มอบหมายให้อีโคโนมิสต์ อิมแพกต์ เป็นผู้จัดทำ โดยเป็นการสำรวจทั่วโลกที่ดึงข้อมูลจากผู้บริหารกว่า 3,000 คน สำรวจประสบการณ์ของพวกเขาเกี่ยวกับโรคระบาด ความเชื่อมั่นต่อนโยบายของรัฐบาล แรงกดดันด้านซัพพลายเชนต่อการเคลื่อนไหวของการค้าทั่วโลก และลำดับความสำคัญของหลักการ ESG ในการค้า รายงานเทรด อิน ทรานสิชัน เจาะลึกข้อมูลระดับภูมิภาค (อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชียแปซิฟิก) และข้อมูลรายภาคอุตสาหกรรม (FMCG อุตสาหกรรม สินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพและยา) เพื่อเปรียบเทียบลำดับความสำคัญในการค้าระหว่างประเทศ

เกี่ยวกับดีพี เวิลด์

เราเป็นผู้ให้บริการชั้นนำด้านโลจิสติกส์ซัพพลายเชนแบบ end-to-end ที่ชาญฉลาดในระดับโลก รองรับการไหลเวียนของการค้าทั่วโลก ผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายของเราครอบคลุมทุกการเชื่อมโยงของซัพพลายเชนแบบบูรณาการ ตั้งแต่ท่าเทียบเรือเดินทะเลและบนบก ไปจนถึงบริการทางทะเลและนิคมอุตสาหกรรม ตลอดจนโซลูชันสำหรับลูกค้าที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี

เราให้บริการเหล่านี้ผ่านเครือข่ายทั่วโลกที่เชื่อมโยงถึงกัน ซึ่งประกอบด้วยหน่วยธุรกิจมากกว่า 300 หน่วยใน 76 ประเทศทั่วทั้งหกทวีป โดยมีบทบาทสำคัญทั้งในตลาดที่มีการเติบโตสูงและอิ่มตัว ทุกที่ที่เราดำเนินการ เรารวมความยั่งยืนและความเป็นพลเมืองขององค์กรที่มีความรับผิดชอบไว้ในกิจกรรมของเรา มุ่งมั่นที่จะมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจและชุมชนที่เราอาศัยและดำเนินงาน

ทีมงานที่ทุ่มเท หลากหลาย และเป็นมืออาชีพของเรามากกว่า 101,000 คนจาก 162 สัญชาติ มุ่งมั่นที่จะส่งมอบคุณค่าที่เหนือชั้นให้กับลูกค้าและพันธมิตรของเรา โดยมุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน กับรัฐบาล ผู้ขนส่ง ผู้ค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ในซัพพลายเชนทั่วโลก ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานของความไว้วางใจซึ่งกันและกันและความเป็นหุ้นส่วนที่ยั่งยืน

เรามองไกล คาดการณ์การเปลี่ยนแปลง และนำเทคโนโลยีดิจิทัลชั้นนำของอุตสาหกรรมมาใช้ เพื่อขยายวิสัยทัศน์ของเราในการพลิกโฉมการค้าโลก และสร้างโซลูชันที่ชาญฉลาด มีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์ที่สุด ในขณะเดียวกันก็สร้างผลกระทบเชิงบวกและยั่งยืนต่อเศรษฐกิจ สังคม และโลกของเรา

ติดตามดีพี เวิลด์ ได้ทาง

ทวิตเตอร์: https://twitter.com/DP_World
ลิงด์อิน: https://www.linkedin.com/company/dp-world