วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

ยาบ้า 7 บาท ค่ารักษาหลักหมื่นบาท! แพทย์ สจล. เผยความล้ำหน้าการรักษาผู้ป่วยติดยาในต่างชาติ ชี้ไทยต้องวิจัยนวัตกรรมบำบัดยาเสพติดใช้เองเพื่อป้องกันวิกฤติสังคมครั้งใหญ่




สถานการณ์ปัญหายาเสพติดในไทย ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวัง และยังคงทวีความรุนแรง ซึ่งผลกระทบจากยาเสพติดนอกจากเกิดขึ้นกับตัวผู้เสพเป็นหลักแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคมโดยรวมอีกด้วย ปัจจุบัน แม้รัฐบาลจะมีมาตรการปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดจำนวนยาเสพติดในไทยให้มากที่สุดแล้ว แต่ยังพบอัตราการระบาดของยาเสพติด จำพวก ยาบ้า ยาไอซ์ และเฮโรอีน เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ซึ่งแพร่ระบาดผ่านช่องทางแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

ในด้านสาธารณสุข สามารถมีส่วนช่วยแก้ปัญหายาเสพติดได้ ในด้านการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด โดยการขยายบริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ของประเทศ พร้อมทั้งมีระบบติดตามเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยกลับไปเสพยาซ้ำ นอกจากนี้ยังมีการรักษาในหลายรูปแบบ เพื่อคืนผู้ป่วยจากการติดยาเสพติดกลับสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ ทั้งการรักษาด้วยยา การรักษาโรคร่วมทางจิตเวช การส่งตัวเข้ารับการปรับพฤติกรรม รวมถึงการบำบัดฟื้นฟูในแบบต่างๆ

นวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อรักษาผู้ป่วยติดยาเสพติดยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก และในต่างประเทศได้มีการศึกษาวิจัยนวัตกรรมหลากหลายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่สูงสุดในการช่วยเหลือผู้ป่วยให้หายขาดจากการติดยาเสพติด อาทิ วัคซีนที่ช่วยป้องกันพิษที่มีต่อระบบประสาทจากโคเคน โดยวัคซีนจะช่วยสร้างแอนติบอดีในการจับโมเลกุลของโคเคนในกระแสเลือด การรักษาผู้ติดสารเฮโรอีนด้วยนวัตกรรมการตรวจรักษาผู้ป่วยจากระยะไกล หรือ Remote patient monitoring (RPM) ที่แพทย์สามารถรวบรวมข้อมูลต่างๆ ของผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ได้ ไม่ว่าจะความดันโลหิต ค่าออกซิเจนในเลือด การตรวจสอบสัญญาณชีพ และสามารถติดตามอาการและให้ความช่วยเหลือได้อย่างใกล้ชิดในกรณีที่ผู้ป่วยมีสารเสพติดในเลือดเกินขนาด

นอกจากนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลยังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยติดยาเสพติด ในรูปแบบของการบำบัด โดยเป็นช่องทางให้แพทย์ได้พูดคุยกับผู้ป่วยได้ทุกที่ทุกเวลา เพื่อทำให้การรักษาอยู่ในสายตาแพทย์อย่างใกล้ชิด อาทิ สายด่วนในการให้ความช่วยเหลือ เพื่อติดตามผู้ป่วยหลังการรักษา และป้องกันการกำเริบของอาการผ่านระบบการเสริมสุขภาพผู้ป่วยยาเสพติด หรือ Addiction-Comprehensive Health Enhancement Support System (A-CHESS) ที่จะคอยให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง และตรวจสอบโลเคชันของผู้ป่วย พร้อมแจ้งเตือนหากอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงของยาเสพติด หรือ แอปพลิเคชัน Nomo ที่ทำให้การเข้าถึงการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญผ่านระบบออนไลน์เป็นไปได้ง่ายมากยิ่งขึ้น และทำให้ผู้ป่วยมีตัวเลือกในการปรึกษาเพื่อบำบัดสภาวะทางจิตที่มาพร้อมกับการเสพยาได้

รศ. นพ.ประเสริฐ ตรีวิจิตรศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ได้กล่าวว่า ปัญหาเรื่องยาเสพติดเป็นปัญหาในไทยที่เรื้อรังมานาน และต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม เพื่อทำให้ผู้ป่วยกลับมาอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นปกติ และเลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดโดยเด็ดขาด โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร เล็งเห็นความสำคัญการมีนวัตกรรมที่ทันสมัย และเข้าถึงประชาชนได้ง่าย จึงมุ่งมั่นเป็นโรงพยาบาลวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์ มุ่งเน้นพัฒนาและผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วยตนเอง โดยผสานองค์ความรู้ของหลากหลายวิชา เพื่อรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยในทุกบริบท และพร้อมรับมือทุกวิกฤตสุขภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการรักษาของคนไทยทุกคน

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสนับสนุนการศึกษาวิจัยนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์โดยคนไทยเพื่อคนไทย สามารถร่วมบริจาคเงินสมทบทุนสร้างโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร โดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี มูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ในพระสังฆราชูปถัมภ์ หมายเลขบัญชี 693-0-32393-4 หากประสงค์ขอรับใบเสร็จรับเงินโปรดแจ้งและส่งหลักฐานการโอนเงินมาที่ไลน์ไอดี @kmitlhospital หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 092-454-8160 , 092-548-2640 และ 02-329-8000 ต่อ 3146 และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร พร้อมความเคลื่อนไหวกิจกรรมต่างๆ ของโรงพยาบาลได้ที่เว็บไซต์ www.kmchf-pp.org และเฟสบุค https://www.facebook.com/KMCHospitalbyKMITL