วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ทีมนักศึกษาวิศวฯ มจธ. เจ๋ง กวาด 3 รางวัลสุดยอดนักออกแบบสถานีชาร์จรถไฟฟ้า Innovation Design Contest (IDC) 2021




ในงานประกาศผล “โครงการออกแบบนวัตกรรมสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า” รอบชิงชนะเลิศ จัดโดย โคเวสโตร ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าทีมนักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) คว้ามาได้ทั้ง 3 รางวัลหลัก

คุณพิชิต พงษ์ประเสริฐ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาธุรกิจใหม่-การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่าจากแนวคิดของโจทย์การประกวด Innovation Design Contest ปีนี้คือการออกแบบสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่เน้นการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืน (Recharge to a Fully Circular Way) สอดคล้องกับ กฟผ. ที่กำหนดให้มีการจัดสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบ ภายในปี 2565

“แม้ว่า สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า จะเป็นเรื่องไกลตัว แต่ผลงานของทีมนักศึกษา มจธ. ทั้ง 3 ทีม สามารถตอบโจทย์ที่เรากำหนดได้เป็นอย่างดี ทั้งด้านการออกแบบที่เน้นการใช้นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้านพลังงานหมุนเวียน เช่น ผู้ชนะเลิศมีจุดเด่นด้านการออกแบบอาคาร mini station ที่น่าสนใจ สามารถสร้างและใช้งานได้จริง ขณะที่ทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 โดดเด่นด้านนวัตกรรม ส่วนทีมรองชนะเลิศอันดับสอง มีไอเดียด้านการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนที่เป็นที่ตั้งของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า


นายวชิรวิทย์ รางแดง ตัวแทนทีม KMUTT Charging Station ทีมชนะเลิศอันดับ 1 กล่าวว่า เราออกแบบสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่สถานีมีขนาดเล็ก เพื่อให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างไม่ต้องมาก หรือต่อเติมจากอาคารเดิมได้

“ตู้ชาร์จเราใช้รูปทรงของเต่า ซึ่งนอกจากดูน่ารักแล้วภายในมีการออกแบบที่ช่วยในเรื่องการระบายความร้อนที่เกิดจากการชาร์จโดยการนำหลักการพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณมาใช้ในการวิเคราะห์รูปทรงภายในที่เหมาะสมด้วย นอกจากนั้นยังติดตั้งพลังงานสะอาดที่ได้จากแสงอาทิตย์และลม และมีการสร้างกำแพงต้นไม้ เพื่อกรองอากาศบริสุทธ์ให้กับผู้มารับบริการและคนที่ผ่านไปมา พร้อมทั้งมีแอปพลิเคชันสำหรับนวัตกรรมการซื้อขายไฟในอนาคตแบบ Real Time Pricing มาในรูปแบบ Energy Trading Platform ที่ทำให้ผู้ใช้รถไฟฟ้าสร้างกำไรจากการซื้อไฟฟ้าชาร์จรถในราคาที่ถูกและขายไฟฟ้าที่เหลือในราคาที่สูงกว่า โดยราคาอิงจาก Time-of-Use ภายในประเทศ”




ด้านนายเขมณัฐ โพธิ์ประสิทธิ์ จากทีม DENOTOL ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 พร้อมกับรางวัล Popular Vote กล่าวว่า นวัตกรรมที่ใช้ในตัวสถานีจะใช้วัสดุสแตนเลสและโพลีคาร์บอเนต ที่สามารถรีไซเคิลได้ เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ สถานีที่ออกแบบนี้มีเซ็นเซอร์เพื่อระบุป้ายทะเบียนรถที่มาใช้บริการ เพื่อความสะดวกในการจองและเข้ารับบริการ

“การที่เราทั้ง 5 คนเป็นนักศึกษา ปี 2 และอยู่ในภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าทั้งหมด แต่งานนี้ต้องใช้ศาสตร์วิศวกรรมหลายสาขา ทั้งไฟฟ้า โยธา รวมถึงการออกแบบสถาปัตยกรรม อีกทั้งต้องมีการคำนวณทางเศรษฐศาสตร์เพื่อดูเรื่องต้นทุนและความคุ้มค่า ผลงานนี้ คือประสบการณ์ที่มีค่าและเป็นประโยชน์ยิ่งกับพวกเรา”




สำหรับคอนเซ็ปต์ของทีม Camellia Charging Station ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 มีสมาชิกในทีมทั้งหมด 4 คน จากสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกลและพลังงานนั้น เป็นการออกแบบสถานีประจุไฟฟ้า ที่มีจุดเด่น คือ การจัดการขยะรีไซเคิล และการใช้แหล่งพลังงานทดแทนได้ครบตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

“สถานีของเราออกแบบไว้สำหรับการติดตั้งที่บริเวณชายหาดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เพราะมีการบริโภคสิ่งที่ก่อให้เกิดขยะรีไซเคิลในปริมาณสูง ทั้งโลหะ พลาสติก กระดาษ โดยออกแบบให้เป็นสถานีที่สามารถให้คนในชุมชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลจัดการได้ในระดับหนึ่งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและกระจายรายได้ให้แก่ผู้คนในบริเวณชุมชน” นายสรวิชญ์ แวววีรคุปต์ หนี่งในสมาชิกทีม Camellia ให้ข้อมูล

ทีม KMUTT Charging Station



  1. นายวชิรวิทย์ รางแดง (ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ปี 4)
  2. นายภควัต ทองศรี (ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ปี 4)
  3. นายปกป้อง เหมเวช (ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ปี 4)
  4. นายปภังกร สุขเพ็ญ (ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ปี 4)
  5. นางสาวรุ่งอรุณ คุณสมิตปัญญา (ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ปี 4)

ทีม DENOTAL



  1. นายเขมณัฐ โพธิ์ประสิทธิ์
  2. นายบุริศร์ คงกระพันธ์
  3. นางสาวอิสริยา แก่นแก้ว
  4. นายกานต์ สุวรรณพิทักษ์
  5. นายจุลพัทร์ จรัสสุรีย์ฉาย
(ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ปี 2)

ทีม Camellia


 

  1. นายสรวิชญ์ แวววีรคุปต์
  2. นายพลกฤต ภาสกรจรัส
  3. นายปุณณภพ ตันติวิมลขจร
  4. นางสาวพาณิภัค โรจนันทเดชชัย
(สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกลและพลังงาน ปี 3)