ปัจจุบันเรื่องความหลากหลาย (Diversity) ของพนักงานในองค์กรทวีความสำคัญ และมีบทบาทมากขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางเชื้อชาติ เพศ ความพิการ และอายุ ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งขององค์กรในการบริหารจัดการความหลากหลายนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการทำงาน ในขณะเดียวกันจากสถานการณ์รอบตัวที่เกิดขึ้น รวมถึงกระแสสังคมต่างๆผลักดันให้เกิดผู้คนการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต แนวคิด และทัศนคติอยู่ตลอดเวลา “การสร้างความสมดุลที่หลากหลาย” ให้เกิดขึ้นในองค์กร และสอดคล้องกับการทำงานในสังคมยุคใหม่ จึงกลายเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญในการผลักดันองค์กรให้สามารถบรรลุเป้าหมาย และประสบความสำเร็จ ซึ่งแนวคิดการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลด้วยการสร้างความสมดุลที่หลากหลายนี้ คือ หัวใจหลักของการบริหารองค์กรอย่างยั่งยืนในแบบฉบับของแบรนด์ ซันโทรี่ ประเทศไทย หนึ่งในบริษัทลูกของกลุ่มบริษัทซันโทรี่ ผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูปสำหรับผู้บริโภคชั้นนำของโลก
คุณณัฏฐณิชา วรวรรณเศรษฐ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายสนับสนุนการบริหารงานในองค์กร แบรนด์ ซันโทรี่ ประเทศไทย และอินโดไชน่า กล่าวว่า “ในฐานะผู้นำธุรกิจด้านอาหารเสริมสุขภาพในเอเชีย แบรนด์ ซันโทรี่ ประเทศไทย มุ่งดำเนินธุรกิจและบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลภายใต้พันธกิจที่สอดคล้องกับกลุ่มบริษัทซันโทรี่ (Suntory Group) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ และเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำระดับโลกในด้านสินค้าสำเร็จรูปสำหรับผู้บริโภค โดยดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ “Growing for Good” ซึ่งวิสัยทัศน์นี้ถูกนำมาใช้ทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจ และการบริหารบุคลากร โดยมีพันธกิจ คือ การมุ่งสร้างความสมดุลกับผู้คน และธรรมชาติผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ รวมถึงการสร้างความสมดุลกับพนักงานด้วยการบริหารความหลากหลายในองค์กร เพราะเราเชื่อว่าบุคลากรจะเติบโตในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ประสบการณ์ พลังแห่งความคิด และวัฒนธรรมที่หลากหลายของพนักงานนั้นมีคุณค่า”
“สำหรับแนวคิดการบริหารความแตกต่าง (Diversity and Inclusion) หรือ D&I ของกลุ่มบริษัทซันโทรี่นั้น ถูกขับเคลื่อนภายใต้ค่านิยมหลัก “Yatte Minahare” จิตวิญญาณแห่งความทะเยอทะยานที่จะฝันให้ยิ่งใหญ่ ท้าทายสิ่งใหม่ และไม่เคยยอมแพ้ รวมถึงยอมรับแนวคิดที่หลากหลาย และมีความพยายามที่จะเพิ่มศักยภาพสูงสุดให้แก่พนักงานในสภาพแวดล้อมการทำงานที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ เพราะตระหนักถึงความแตกต่างและความหลากหลายทั้งในด้านเชื้อชาติ เพศ ความพิการ และอายุ ‘การบริหารความหลากหลายอย่างสมดุลให้แก่พนักงาน’ จึงกลายหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต
ได้อย่างยั่งยืน”
ถอดกลยุทธ์ D&I ฉบับ “แบรนด์ ซันโทรี่ ประเทศไทย” ที่เน้นบริหารความหลากหลายอย่างสมดุล
แบรนด์ ซันโทรี่ ประเทศไทย มุ่งให้ความสำคัญกับแนวคิด D&I ในการบริหารจัดการองค์กร และทรัพยากรบุคคลอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการบริหารความหลากหลายอย่างสมดุล ด้วยการนำ 4 แนวทางการส่งเสริมความหลากหลายของบริษัทแม่มาสานต่อ ได้แก่ 1) ก้าวข้ามเรื่องเชื้อชาติ ปัจจุบันบริษัทฯ มีพนักงานชาวต่างชาติจากหลายประเทศ ทั้งจากทวีปยุโรป อาทิ อิตาเลียน สวีดิช รวมถึงทวีปเอเซีย เช่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ เมียนม่า เวียดนาม กัมพูชา สิงคโปร์ เป็นต้น 2) ก้าวข้ามเรื่องเพศ บริษัทฯ มีพนักงานผู้หญิงที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในสัดส่วนสูงเกินร้อยละ 50 3) ก้าวข้ามความพิการ บริษัทฯ มีนโยบายจ้างงานผู้พิการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 และ 4) ก้าวข้ามเรื่องอายุ พนักงานของบริษัทฯ นั้นมีหลากหลายเจเนอเรชัน โดยเจเนอเรชันที่มีจำนวนมากที่สุด คือ กลุ่ม Gen-Y มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 66 ตามมาด้วยกลุ่ม Gen-X มีสัดสวนอยู่ที่ร้อยละ 30 และเจเนอเรชันอื่นๆ อีกร้อยละ 4 ทั้งนี้ บริษัทฯ วางแผนและตั้งเป้าการจ้างงานบุคคลที่มีความหลากหลายมากขึ้นในอนาคต
การบริหารที่สนับสนุนความหลากหลาย และยอมรับความแตกต่างของบุคลากรในองค์กรทั้งในด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรม พื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคม ความบกพร่องทางร่างกาย เพศสภาพ และประสบการณ์ คือ การมองเห็นคุณค่าของความแตกต่างของพนักงานภายในองค์กร กล่าวคือ พนักงานทุกคนจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และเมื่อมีการบริหารความหลากหลายที่ดีจะทำให้องค์กรสามารถเลือกใช้ความแตกต่างเหล่านั้นให้เหมาะสมกับงานแต่ละอย่างที่แตกต่างกันออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
เปิดวิสัยทัศน์ผู้บริหารหญิง พลังขับเคลื่อน HR สร้างคนบนความเท่าเทียม
ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในทีมผู้บริหารคนสำคัญในด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลของแบรนด์ ซันโทรี่ ประเทศไทย และตัวแทนด้านความหลากหลายของพนักงานของบริษัทระดับนานาชาติ คุณณัฏฐณิชา กล่าวถึงหลักการทำงานที่ประสบความสำเร็จว่า “ปรัชญาในการทำงานที่แบรนด์ ซันโทรี่ ประเทศไทย คือ การทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดเพื่อให้บริษัทฯ บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ รวมถึงให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างพลัง (Empowerment) การสร้างทีมที่มีศักยภาพสูง (High performing team) และการทำงานร่วมกันเป็นทีม (One Team) เพราะเราต้องการสร้างบริษัทฯ ให้เป็นองค์กรที่น่าทำงานด้วยที่สุด โดยมีบุคลากรที่มีคุณภาพที่จะช่วยกันสร้างความแตกต่างให้กับองค์กร และต้องส่งเสริมให้พนักงานมีความรัก และผูกพันกับองค์กรควบคู่กันไปผ่าน 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1) การสร้างแรงจูงใจด้วยการแข่งขัน และมอบรางวัลต่างๆ ให้แก่พนักงาน 2) การสร้างแบรนด์ขององค์กร และ
การสร้างพันธสัญญาทางใจของพนักงานต่อแบรนด์ 3) การเพิ่มศักยภาพหรือขีดความสามารถของคนให้ได้มากที่สุดผ่านการบริหารจัดการองค์กรที่ดี และ 4) การสร้างองค์กรที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการดำเนินธุรกิจ”
ตามที่แบรนด์ ซันโทรี่ ประเทศไทย เน้นการสร้างแบรนด์ภายใน และสื่อสารกับพนักงานแบบ Two–Way Communication มาโดยตลอด บริษัทฯ ได้ทำการสำรวจวัดระดับความพึงพอใจของพนักงานทุก 2 ปี เพื่อให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะกับบริษัทฯ โดยผลการสำรวจล่าสุดเมื่อปี 2562 พบว่า พนักงานส่วนใหญ่ค่อนข้างมีความผูกพันกับองค์กรเป็นอย่างมาก บริษัทฯ ยังได้พัฒนาและมอบสวัสดิการต่างๆ ให้แก่พนักงานอย่างต่อเนื่องโดยสวัสดิการของแบรนด์ ซันโทรี่ ประเทศไทย ถือว่าเทียบเท่าหรือสูงกว่าองค์กรอื่นๆ รวมถึงเข้ากับยุคสมัย และเหมาะสมกับพนักงานที่มีความแตกต่างทั้งการทำงานแบบยืดหยุ่น (Flexible work arrangement) หรือสวัสดิการแบบยืดหยุ่น (Flexible benefits)”
เทรนด์การบริหารทรัพยากรบุคคลมุ่งสู่ยุคดิจิทัล
สำหรับแนวทางการบริหารทรัพยากรบุคคลในประเทศไทย คุณณัฏฐณิชา มองว่า “มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก การบริหารทรัพยากรบุคคลในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งบริษัทฯ ต้องทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อนำสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาในทุกเรื่อง ยิ่งในยุคนี้ต้องรู้จักใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และข้อมูลต่างๆ หรือที่เรียกว่า Big Data มาวิเคราะห์ เพื่อหา Solution ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทุกอย่างต้องเป็น Employees Centric โดยให้พนักงานเป็นศูนย์กลางสิ่งต่างๆ หรือในเวลาที่เราต้องสร้างสรรค์โปรแกรมใหม่ๆ”
ยกตัวอย่างเช่น สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายการทำงานในการบริหารจัดการคนในองค์กรเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็น การทำงานทางไกล บริษัทต่างๆ กำลังคุ้นเคยกับการให้พนักงานทำงานที่บ้าน หรือการทำงานแบบ Hybrid Workplace สลับการทำงานทางไกลกับการทำงานที่ออฟฟิศ ประสบการณ์ใหม่ในการสื่อสารองค์กร ทุกอย่างเป็น Virtual เราจึงต้องลงทุนกับเทคโนโลยี เพื่อทำให้การสื่อสารภายในองค์กรมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมความหลากหลาย ถ้ามีการบริหารการจัดการความหลากหลายที่ดีจะทำให้บริษัทฯ สามารถสร้างวัฒนธรรมที่คนกล้าคิด กล้าแสดงออก มีความผูกพันกับองค์กรในระยะยาว และ การดูแลสุขภาพของพนักงานทั้งร่างกายและจิตใจ การทำงานช่วงโควิด-19 สร้างความกังวลให้พนักงานค่อนข้างมาก เราจึงจัดหาอุปกรณ์ป้องกันโควิดทั้งจัดหาวัคซีน ชุดตรวจ รวมทั้งการให้คำแนะนำในการดูและสุขภาพตัวเอง เพื่อให้พนักงานได้ผ่อนคลายความเหนื่อยล้าจากการทำงาน
“ความหลากหลายในองค์กรมีผลเชิงบวกต่อภาพลักษณ์โดยรวมขององค์กรอย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบันองค์กรระดับโลกให้ความสำคัญกับความหลากหลายในองค์กรค่อนข้างมากซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กร ทำให้องค์กรเข้าใจลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน นอกจากนี้ ความหลากหลายถือเป็นอีกวิธีหนึ่งในการสร้างแบรนด์ภาพลักษณ์องค์กร (Employer Branding) ที่จะดึงดูดผู้สมัครให้เข้ามาสมัครงาน และตัดสินใจเลือกทำงานกับองค์กรได้มากขึ้น” คุณณัฏฐณิชา กล่าวสรุป