โดย กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
พฤติกรรมติดหวาน หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ยังคงเป็นปัญหาในเด็กวัยเรียน ทำให้มีความเสี่ยง เป็นโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ หลอดเลือดหัวใจ และฟันผุ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม ประกอบกับช่วงนี้ เด็กปิดเรียน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้น้องๆ หนูๆ วัยเรียน จำเป็นต้องเรียนออนไลน์อยู่กับบ้าน นั่นจึงเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เด็กเคลื่อนไหวน้อยลง เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะอ้วนลงพุง องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า ในปี 2568 จะมีเด็กเป็นโรคอ้วนทั่วโลกมากถึง 70 ล้านคน เด็กที่มีภาวะอ้วน มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนมากถึง ร้อยละ 25 มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากถึงร้อยละ 40 มีความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากกว่า ร้อยละ 60 สถานการณ์ภาวะโภชนาการของเด็กอายุ 6-14 ปี พ.ศ. 2562 - 2563 ภาพรวมทั่วประเทศพบว่า เด็กอายุ 6 - 14 ปี สูงดีสมส่วน 61.5% และ 65.7 % ตามลำดับ เด็กเริ่มอ้วนและอ้วนมีแนวโน้มสูงขึ้น 13.6 % และ 12.5 % ตามลำดับ
และจากผลการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพเด็กวัยเรียน โดยกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระหว่างเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2564 เกี่ยวกับพฤติกรรมการดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มรสหวานในกลุ่มนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศผ่านระบบออนไลน์ พบว่า ส่วนใหญ่ใน 1 วัน จะมีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานเฉลี่ยสูงถึง 86.5 % มีเพียง 13.5 % ที่ดื่มน้ำเปล่า
เด็กวัยเรียนควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีรสหวาน โดยมีคำแนะนำในการบริโภคอาหารดังนี้
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผักและผลไม้ เลี่ยงขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม
- พยายามควบคุมการกินน้ำตาลแต่ละวันให้ไม่เกิน 4 ช้อนชา
- ดื่มนมพร่องมันเนย รสจืดแทนรสหวาน
- หากอยากดื่มน้ำหวานให้เลือกดื่มน้ำผลไม้สด ไม่เติมน้ำตาลแทน
- ดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น อย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน (1 แก้ว ประมาณ 250 มิลลิลิตร) น้ำเปล่าจะช่วยป้องกันท้องผูก ผิวดูสดใส ไม่แห้งกร้าน
- เลือกรับประทานผลไม้ที่รสไม่หวานเช่น ฝรั่ง แอปเปิ้ล ชมพู่ เป็นอาหารว่างแทนขนมขบเคี้ยวที่มีไขมัน เกลือและน้ำตาลสูง
- อ่านฉลากก่อนซื้อ โดยเลือกแบบที่ไม่เติมน้ำตาลเป็นดีที่สุด
ในแต่ละวันร่างกายสามารถรับน้ำตาลจากอาหารอื่น ๆ ทั่วไป อาทิ ข้าว แป้ง ผัก และผลไม้ ซึ่งมีสารประเภทน้ำตาลรวมอยู่ในอาหารนั้นๆ อยู่แล้ว และพอเพียงต่อการบริโภคน้ำตาลในชีวิตประจำวัน วัยเรียนจึงควรปลูกฝังพฤติกรรมการกินอาหารลดหวานให้เป็นนิสัยก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ จะส่งผลให้ มีสุขภาพดี มีความพร้อมในการเรียนรู้ และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิต
**แหล่งข้อมูลอ้างอิง : บทความวิชาการ การสร้างเสริมสุขภาพเด็กที่มีภาวะอ้วน เพื่อลดความเสี่ยงโรคเบาหวานในโรงเรียน
(รำไพ หมั่นสระเกษ)
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย
ผลการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพในกลุ่มวัยเรียน กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
https://multimedia.anamai.moph.go.th/ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข