ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย เผยข้อมูลโอกาสและแนวโน้มของการติดเชื้อร่วมของไวรัสตับอักเสบ ซี (HCV) และไวรัสเอชไอวี (HIV) ในปัจจุบัน พบมากกว่า 90% มาจากกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย โดยไม่ป้องกัน และกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย โดยมีการใช้ยา PrEP ซึ่งเป็นยาที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV แต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น HCV พร้อมระบุ 3 ปัจจัย ก่อให้เกิดการติดเชื้อร่วมระหว่าง 2 ไวรัสดังกล่าวในผู้ป่วย ดังนี้ 1. การมีเพศสัมพันธ์แบบหลายคู่นอนตั้งแต่ 2 ขึ้นไป 2. การใช้ยาเสพติดแบบฉีดหรือแบบสูดดมโดยเฉพาะยาไอซ์และโคเคน 3. มีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น ซิฟิลิส ทั้งนี้แนะแนวทางการตรวจ จำเป็นต้องตรวจหาปริมาณเชื้อไวรัส HCV เพื่อบ่งบอกว่าเรากำลังติดเชื้อไวรัสอยู่หรือไม่ จำเป็นต้องได้รับการรักษาหรือไม่ และมีการตอบสนองต่อยาต้านไวรัสที่ให้รักษาอยู่หรือไม่ เพื่อดำเนินการรักษาตนเองถัดไป
พญ.อัญชลี อวิหิงสานนท์ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ไวรัสตับอักเสบซี และ HIV มีช่องทางการติดต่อเช่นเดียวกัน เราจึงพบว่าในคนไข้ HIV มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี (HCV) เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสูง คือในกลุ่มที่มีการใช้ยาเสพติดแบบฉีด และในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย โดยเฉพาะหากมีคู่นอนหลายคนและมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันและมีการใช้ยาไอซ์ทั้งแบบสูดดมและแบบฉีดจะยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อ HCV สูงมากขึ้น ดังนั้นจึงถือว่าโรคไวรัสตับอักเสบซี เป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (men having sex with men : MSM) ปัจจุบันใน กทม. ผู้ติดเชื้อ HIV รายใหม่มากกว่า 90% จะเป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและอายุน้อย ทำให้มีโอกาสพบการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มนี้ และอีกกลุ่มที่มีโอกาสติดเชื้อ HCV เพิ่มขึ้น ก็คือกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวีและมีการใช้ยา tenofovir disoproxil fumarate (TDF)/emtricitabine (FTC) เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนสัมผัสหรือที่เรียกว่า PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) เนื่องจากยา PrEPเป็นยาที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV แต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น ซิฟิลิส และไวรัสตับอักเสบซี ได้ ดังนั้นในคนกลุ่มนี้ถ้ามีคู่นอนหลายคนและมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันก็จะพบการติดเชื้อซิฟิลิสและไวรัสตับอักเสบซีสูงขึ้นได้ โดยปัจจุบัน MSM ที่มีอายุ 20 – 30 ปี พบภาวการณ์ติดเชื้อHCV แบบเฉียบพลัน (acute HCV) มากขึ้น กล่าวโดยสรุปก็คือความเสี่ยงในการติดเชื้อ HCV จะประกอบไปด้วยปัจจัย 4 อย่างด้วยกัน คือ 1. การมีเพศสัมพันธ์แบบหลายคู่นอนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป 2. การใช้ยาเสพติดแบบฉีดหรือแบบสูดดมโดยเฉพาะยาไอซ์ และโคเคน 3. มีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น ซิฟิลิส 4. มีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย
ทั้งนี้ ในคนที่มีการติดเชื้อ HIV ร่วมกับ HCV จะทำให้การแบ่งตัวของไวรัส HCV สูงขึ้น 8 – 20 เท่า เทียบกับการแบ่งตัวในผู้ติดเชื้อ HCV อย่างเดียว และพบปริมาณไวรัส HCV ในน้ำอสุจิหรือน้ำหล่อลื่นในผู้ติดเชื้อ HIV ร่วมกับ HCV สูงถึง 40% ในขณะที่พบเพียง 20% ในผู้ที่ติดเชื้อ HCV เพียงอย่างเดียว (37.8% vs 18.4%) จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมกลุ่มที่ติดเชื้อ HIV ร่วมกับ HCV จะมีโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อ HCV ทางเพศสัมพันธ์สูงกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งโดยปกติการกระจายเชื้อทางเพศสัมพันธ์พบได้น้อยมากถ้าผู้ติดเชื้อมี HCV อย่างเดียว
พญ.อัญชลี อธิบายต่อถึงอาการของผู้ป่วย HCV ร่วมกับ HIV มีความรุนแรงแตกต่างจากผู้ติดเชื้อ HCV อย่างเดียว (Mono-infection) ว่า ในกรณีที่มีการติดเชื้อ HCV แบบเฉียบพลัน 80% ผู้ป่วยจะไม่มีอาการทั้งผู้ที่ติดเชื้อ HCV อย่างเดียว และผู้ที่ติดเชื้อ HIV ร่วมกับ HCV แต่ผู้ที่ติดเชื้อ HIV จะมีโอกาสมีการติดเชื้อ HCV แบบเรื้อรังได้มากกว่าผู้ที่ไม่ติดเชื้อ HIV โดยปกติแล้วการติดเชื้อ HCV ในกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า 30 ปีโดยไม่ติดเชื้อ HIV ร่วมด้วย มีโอกาสหายจากโรคติดเชื้อ HCV สูงถึง 20 – 30% แต่ขณะเดียวกันผู้ที่มีการติดเชื้อ HIV ร่วมด้วยจะมีโอกาสหายจากการติดเชื้อ HCV ลดลง เหลือเพียง 10-15% จึงมีโอกาสเป็นโรคติดเชื้อ HCV เรื้อรังสูงขึ้น และจะนำไปสู่โอกาสในการเป็นโรคตับแข็ง และมะเร็งตับเพิ่มขึ้นด้วย หากไม่ได้รับการรักษา และนอกจากนั้นในผู้ติดเชื้อ HIV ร่วมกับ HCV จะมีโอกาสเกิดโรคนอกตับสูงขึ้นด้วย ประมาณ 40 – 70% เช่น อาการอักเสบของเส้นเลือดที่ผิวหนัง (Cryoglobulinemia) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เบาหวาน เยื่อผังผืดที่ตับสูงขึ้น ความจำเสื่อม และมีโอกาสเกิดไตวายสูงขึ้นด้วย นอกจากนั้นผู้ติดเชื้อ HIV ร่วม อาจพบเม็ดเลือดขาว CD4+ ของผู้ป่วยลดน้อยลงหรือไม่สูงขึ้นหลังให้ยาต้าน HIV ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำลงได้ด้วย
สำหรับแนวทางการตรวจผู้ติดเชื้อ HIV ร่วมกับ HCV ในปัจจุบัน จะเริ่มต้นจากการตรวจแอนติบอดีต่อ HCV (Anti-HCV Ab) หากพบว่ามีผลบวก จึงจะทำการตรวจปริมาณไวรัส HCV ในเลือด หรือเรียกว่า HCV RNA viral load ซึ่งหากพบว่ามีปริมาณไวรัส HCV ในเลือดแล้ว คนไข้ควรได้รับการรักษา แต่ยังมีข้อพึงระวังจากการตรวจ Anti-HCV Ab คือ ในกรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ร่วมกับ HCV อาจพบว่าตรวจ Anti-HCV แล้วผลเป็นลบลวง พบได้ในกรณีที่คนไข้มีภูมิคุ้มกันต่ำมากๆ (CD4+ < 100 cells/uL) โดยพบประมาณ 5 – 6% หรือในกรณีที่ผู้ป่วยเพิ่งรับเชื้อ HCV มาไม่เกิน 8 สัปดาห์ จะทำให้ตรวจ Anti-HCV Ab เป็นลบได้เช่นกัน และอีกกรณีที่อาจตรวจไม่พบ Anti-HCV Ab เป็นลบทั้งๆ ที่มีการติดเชื้อ HCV ซึ่งเรียกว่าผลลบลวง เช่น ผู้ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง คนไข้เป็นโรคเส้นเลือดอักเสบที่ผิวหนัง (Cryoglobulinemia) ดังนั้นหากสงสัยจึงควรส่งคนไข้ไปตรวจหาปริมาณไวรัส HCV ในเลือดเพื่อยืนยัน
พญ.อัญชลี กล่าวเสริมว่า กลุ่มคนที่ควรตรวจคัดกรองการติดเชื้อ HIV และ HCV มีดังนี้ 1. กลุ่มที่มีการใช้ยาเสพติดแบบฉีดและแบบสูดดม 2. กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและหญิงข้ามเพศ (Transgender) 3. กลุ่มที่มีการติดเชื้อ HIV แต่ตรวจพบการติดเชื้อซิฟิลิส รวมทั้งมีค่าเอ็นไซม์ตับสูงขึ้น และ 4. กลุ่มอื่นๆ ที่ควรตรวจ เช่น กลุ่มคนที่มีประวัติการรับเลือดมาก่อนปี พ.ศ.2535 กลุ่มผู้ต้องขัง เนื่องจากมีการตรวจพบการติดเชื้อ HCV ในผู้ต้องขัง สูงถึง 3 – 7% กลุ่มคนเก็บขยะเพราะอาจถูกเข็มหรือของมีคมตำ และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ก็ควรตรวจการติดเชื้อ HCV เช่นเดียวกัน โดยเมื่อติดเชื้อ HIV ร่วมกับ HCV แนะนำวิธีการดูแลตัวเอง ควรควบคุมพฤติกรรมที่ทำให้เกิดเยื่อพังผืดที่ตับมากขึ้น คือ งดการดื่มแอลกอฮอล์ หรือในกลุ่มคนที่รู้ว่าตนเองมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ ก็ควรเข้ารับการตรวจเป็นประจำ และป้องกันพฤติกรรมที่จะนำไปสู่ความเสี่ยงในการติดเชื้อ คือ การมีเพศสัมพันธ์แบบป้องกัน ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น และไม่ควรมีคู่นอนหลายคน รวมทั้งหากเป็นผู้ป่วย เอชไอวี ให้กินยาต้าน HIV สม่ำเสมอ และเข้ารับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของตนเองและคู่นอนเป็นประจำ
ในด้านสิทธิ์การรักษาผู้ติดเชื้อ HIV ร่วมกับ HCV นั้น ในปัจจุบัน สปสช. ให้รับสิทธิ์การตรวจและรักษา HCV ฟรี ใน 2 กลุ่มแรก ได้แก่ กลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ใช้ยาเสพติดแบบฉีด และในอนาคตกำลังจะขยายสิทธิ์การตรวจฟรีเพิ่มขึ้น เช่น ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย แต่ไม่ได้ติดเชื้อ HIV กลุ่มผู้ต้องขัง กลุ่มพนักงานเก็บขยะ กลุ่มผู้ป่วยฟอกไต กลุ่มคนที่มีเอ็นไซม์ตับขึ้นสูงแต่หาสาเหตุไม่ได้ กลุ่มที่ได้รับการสัก กลุ่มคนที่มีประวัติรับเลือดก่อนปี 2535 โดยสิทธิ์การรักษาในปัจจุบัน สปสช. ได้ให้สิทธิ์การรักษาฟรีทุกกลุ่มอยู่แล้ว แต่ต้องผ่านเกณฑ์ที่ สปสช. กำหนด คือ ผู้ติดเชื้อต้องมีเยื่อพังผืดสูงระดับนึง เพราะงบประมาณมีจำกัด สิทธิ์นี้จึงให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงตับแข็งก่อน ซึ่งในปัจจุบันโอกาสในการรักษาหายขาดสูงถึง 95% เนื่องจากยามีการใช้ยารักษาที่มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น แต่ทั้งนี้การรักษา HCV ให้หายขาดแล้วจะไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อซ้ำ ดังนั้นถึงรักษาหายขาดแล้วก็ควรดูแลป้องกันตัวเองไม่ให้กลับมาติดเชื้อซ้ำอีก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดแบบฉีด มีประวัติการติดเชื้อซ้ำ สูงถึง 15% และ ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายพบการติดเชื้อ HCV ซ้ำประมาณ 20 – 30% ในระยะ 2 ปี
โดยปัจจุบัน สามารถเข้ารับการตรวจปริมาณเชื้อไวรัส HIV และ HCV ได้เกือบทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ เนื่องจากเครื่องตรวจวิเคราะห์ที่สามารถทำการตรวจ HIV RNA ได้ จะสามารถตรวจ HCV ได้เช่นกัน มีความจำเป็นที่ต้องตรวจหาปริมาณเชื้อไวรัส HCV เพื่อจะบ่งบอกว่าเรากำลังติดเชื้อไวรัส HCV อยู่หรือไม่ จำเป็นต้องได้รับการรักษาหรือไม่ และมีการตอบสนองต่อยาต้านไวรัสที่ให้รักษาอยู่หรือไม่ การรักษา HCV ในผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีประโยชน์หลายอย่าง ทั้งลดการเกิดโรคในตับ เช่น ตับแข็งและมะเร็งตับ และโรคนอกตับ เช่น ลดการเกิดเบาหวาน การเกิดไตวาย และที่สำคัญการรักษา HCV เป็นการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ HCV สู่คู่นอนอีกด้วย พญ.อัญชลี กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ปัจจุบันการตรวจหาปริมาณเชื้อไวรัส HIV และ HCV ในประเทศไทย มีการนำนวัตกรรมทางห้องปฏิบัติการเข้ามารองรับการตรวจหาปริมาณด้วย เครื่องตรวจปริมาณไวรัสที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ อะลินิตี้ เอ็ม (Alinity m) เพื่อตรวจหาปริมาณไวรัสด้วยเทคโนโลยี real-time PCR มีความไวในการทดสอบ ที่ใช้เวลาในการทดสอบทั้ง HIV และ HCV ไม่ถึง 2 ชั่วโมง จากรูปแบบเดิมที่ใช้เวลาในการตรวจ 6-8 ชั่วโมงต่อรอบการทดสอบ อีกทั้งยังสามารถใช้เลือดจากผู้ป่วยเพียงหลอดเดียวก็สามารถสั่งการทดสอบได้ทั้ง 2 เทสต์ ดังนั้นแล้วข้อดีของเทคโนโลยีนี้คือ ช่วยให้ผู้ป่วยลดการเดินทางลง จากเดิมต้องมาตรวจเลือด 1 วันล่วงหน้า มาพบแพทย์อีก 1 วัน เหลือเพียงวันเดียวทั้งการตรวจเลือด และรอผลแลปในการพบแพทย์วันเดียวกันได้เลย และใช้เลือดในการทดสอบเพียง 1 หลอดเท่านั้น