เปิดฉากไปแล้วเป็นที่เรียบร้อยสำหรับงาน “บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 (Bangkok Art Biennale 2020)” เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติที่กลับมาจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งในกรุงเทพมหานคร โดยในครั้งนี้ วัน แบงค็อก (One Bangkok) และ เดอะ ปาร์ค (The PARQ) โครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบมิกซ์ยูสใจกลางกรุงเทพฯ ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างปรากฏการณ์ด้วยการจัดสรรพื้นที่ วัน แบงค็อก (One Bangkok) ได้แก่ The Prelude (เดอะ พรีลูด), BAB Box (แบ๊บ บ็อกซ์) และ The PARQ (เดอะ ปาร์ค) บริเวณชั้น 15 รวมถึง BAB Café ชั้น 3 เพื่อจัดแสดงหลากหลายผลงานจากศิลปินชั้นนำ พร้อมผลักดันกรุงเทพฯ สู่การเป็นจุดหมายปลายทางด้านศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัยระดับโลก และส่งเสริมให้คนไทยได้สร้างความสุขผ่านงานศิลปะอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
จากความสำเร็จอย่างงดงามของเทศกาล บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งแรก เมื่อปี 2018 งาน “บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่” จึงถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด “ศิลป์สร้าง ทางสุข (Escape Routes)” โดยในปีนี้ได้มีการคัดเลือกผลงานศิลปะกว่า 200 ชิ้นจากศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 82 ชีวิต ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อพาทุกท่านไปสัมผัส ซึมซับ ตีความ และร่วมกันค้นหาทางออกให้กับเหตุการณ์รอบตัวที่มนุษย์และโลกกำลังเผชิญทั้งในแง่ของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถูกบรรจงถ่ายทอดออกมาในรูปแบบจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพถ่าย ภาพพิมพ์ ศิลปะจัดวาง วิดีทัศน์ สื่อผสม แผนผังสถาปัตยกรรม และอีกมากมาย ที่สำคัญ เทศกาล บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 ยังจะมีบทบาทเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะสร้างความตื่นตัวและแรงบันดาลใจให้กับวงการศิลปะของบ้านเรา รวมไปถึงผู้ที่สนใจในด้านสื่อ การออกแบบ นักเรียน-นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ตลอดจนช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นเทศกาลใหญ่ระดับนานาชาติเทศกาลแรกๆ ที่จัดขึ้นด้วยวิถี New Normal ภายหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย
ในโอกาสนี้ วัน แบงค็อก (One Bangkok) และ เดอะ ปาร์ค (The PARQ) ได้ก้าวเข้ามาสนับสนุนเทศกาล บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 อย่างเป็นรูปธรรม โดยเป็นการสานต่อจากภารกิจด้านศิลปะที่ทั้งสองโครงการฯ เคยดำเนินไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัว “BAB Box” เมื่อ 2 ปีที่แล้วภายในโครงการ วัน แบงค็อก เพื่อเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานในเทศกาลบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ รวมถึงการจัดแสดงงานศิลปะสาธารณะร่วมสมัยแบบถาวรในชื่อ “The PARQ Collection” ภายในพื้นที่โครงการเดอะ ปาร์ค ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์ล้วนแต่เป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของ วัน แบงค็อก และ เดอะ ปาร์ค ในฐานะภาคเอกชนที่เน้นส่งเสริมศิลปะในฐานะองค์ประกอบสำคัญของการใช้ชีวิตและการสร้างสถานที่ ทั้ง วัน แบงค็อก และ เดอะ ปาร์ค มีแนวคิดตรงกับ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 ที่ต้องการดึงศิลปะให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนมากขึ้น และพยายามทลายภาพจำเดิมๆ ของงานศิลปะในเมืองไทยที่มักถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว หรือเป็นสิ่งที่พบได้เฉพาะในหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ หรือสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมอย่างเดียว จนในที่สุดจึงเกิดการนำงานศิลปะในเทศกาลฯ มาจัดแสดงภายในโครงการมิกซ์ยูสที่ตั้งอยู่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ และเดินทางสัญจรได้อย่างสะดวกด้วยระบบขนส่งสาธารณะขึ้นมาในคราวนี้
ทั้งนี้ ทีมภัณฑารักษ์ได้ทุ่มเทคัดสรรผลงานศิลปะร่วมสมัยจากศิลปินที่น่าจับตามองทั่วทุกมุมโลกเพื่อนำมาจัดแสดงในเทศกาลฯ อย่างเต็มที่ แม้ในปีนี้จะต้องเผชิญความท้าทายอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในเรื่องการจัดส่งและติดตั้งผลงานที่ต้องประสานกันแบบข้ามน้ำข้ามทะเลระหว่างตัวศิลปิน ภัณฑารักษ์ และทีมงานอาสาสมัครในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด
เดอะ พรีลูด, BAB Box ในโครงการ วัน แบงค็อก และ เดอะ ปาร์ค คือ 3 สถานที่จัดแสดงผลงานในเทศกาล บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 จากทั้งหมด 10 สถานที่สำคัญในกรุงเทพมหานคร โดยผลงานไฮไลต์ที่จัดแสดงใน เดอะ พรีลูด, BAB Box และ เดอะ ปาร์ค ที่บรรดาคนรักศิลปะไม่ควรพลาดชม ได้แก่
เดอะ พรีลูด
• Dusit Thani Province 1 โดย ประทีป สุธาทองไทย: งานสันนิษฐานรูปแบบสิ่งปลูกสร้างในจังหวัดดุสิตธานีจากการศึกษาภาพถ่ายแบบจำลองของสมัยรัชกาลที่ 6 โดยนำมาสร้างขึ้นใหม่ในรูปแบบพิมพ์เขียวด้วยเทคนิคจิตรกรรมเหมือนจริง พร้อมทั้งยังเชื่อมโยงเมืองในฝันแห่งนี้เข้ากับการสำรวจความเป็นจริงผ่านมุมมองภาพถ่ายทางอากาศของหมู่บ้านน้อมเกล้า ในอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ที่เกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลมอบที่ดินทำกินให้อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อยุติสงครามการต่อสู้กับรัฐ
BAB Box
• DO A TO MII Doll 1939, Doll 2020 โดย โลเล: งานจิตรกรรมและประติมากรรมที่แสดงถึงสภาพร่างกายที่เปรียบเหมือน สังคม ชุมชน เมือง ประเทศ และโลก ที่มีตุ๊กตาหุ่นไซบอร์กขนาดยักษ์เป็นตัวแทนสะท้อนเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในช่วงเวลานี้ ตั้งแต่โรคระบาดไปจนถึงภัยแห่งความขัดแย้งของมนุษย์ด้วยกันเอง
• Martyrs: Earth, Wind, Fire, Air โดย บิล วิโอลา: การฉายวิดีโอของเหล่า “มาร์ไทร์ (Martyrs)” หรือผู้ยอมพลีชีพ ที่แบกรับความเจ็บปวด ความยากลำบาก เพื่อยืนหยัดต่อคุณค่าความเชื่อและหลักการของตน ในขณะที่ร่างกายถูกทดสอบต่อการทรมานโดยดิน น้ำ ลม ไฟจนถึงขีดจำกัด
• Devi/The River (After Aristide Maillol) โดย ธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ: ผลงานที่ใช้ร่างกายของผู้หญิงในสื่อต่างๆ ทั้งผลงานจิตรกรรมระดับโลกอย่าง Gabrielle d'Estrées and One of Her Sisters และบางส่วนจากภาพยนตร์ เรื่อง Persona ของผู้กำกับฯ Ingmar Bergman มาสร้างความเชื่อมโยงและตีความหมายใหม่ในมุมมองที่สร้างความรู้สึกให้กับผู้ชมพร้อมกับท้าทายประเด็นเรื่องความคิดต้นแบบ
เดอะ ปาร์ค
• A Child’s World in the Days of Adults โดย ณรงค์ยศ ทองอยู่: การค้นหา "ความจริงเกี่ยวกับวัสดุ" และการเปิดเผยแก่นแท้ของความจริงนั้น โดยกระตุ้นให้ผู้ชมเปรียบเทียบความเป็นจริงกับจินตนาการ ผ่านกระบวนการประดิษฐ์ของเล่นที่แขวนอยู่รอบบริเวณซึ่งทำมาจากเศษสิ่งของและขยะที่พบในทะเล โดยมีตุ๊กตาตาบอดหลายตัวสะท้อนถึงความต้องการหลีกหนีความรู้สึกโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมในชีวิตประจำวันและการย้ายถิ่น
• Tooth Clinic โดย โน้ต กฤษดา: ประสบการณ์ที่ได้สัมผัสจากคลินิกหมอฟันในวัยเด็กซึ่งฝังอยู่ในความทรงจำของศิลปินถูกนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการผลิตผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ ทั้งงานวาดเส้น ประติมากรรม และอนิเมชันสามมิติ เพื่อพาผู้ชมไปสู่ประสบการณ์ใหม่ รวมไปกระตุ้นความรู้สึกที่มีร่วมกัน
• Rising โดย มารีนา อบราโมวิช: ผลงานเวอร์ชวลเรียลลิตี้ชิ้นแรกของ มารีนา อบราโมวิช ที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อสะท้อนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และถูกนำมาจัดแสดงเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยเครื่องเล่นเวอร์ชวลเรียลลิตี้และถังแก้วที่มารีนาติดอยู่ภายในและกำลังจะจมน้ำจากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น บนท่าเรือไม้แห่งหนึ่งกลางมหาสมุทรอาร์คติกที่น้ำแข็งละลายลงสู่ทะเล
• Bleu Blanc Rouge โดย ยุรี เกนสาคู: การนำผลงาน “เสรีภาพนำประชาชน (Liberty Leading The People)” ของเดอลาครัวซ์ ซึ่งเป็นภาพวาดคลาสสิกที่แสดงถึงการต่อสู้และอุทิศชีวิตของประชาชนชาวฝรั่งเศส เพื่อนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญมาตีความใหม่แบบร่วมสมัยผ่านการผสมผสานตัวการ์ตูนน่ารักสดใส
• Sphere with Rectangle Hole, Sphere with Triangle Hole, Sphere with Square Hole และ Sphere with Oval Hole โดย อนิช คาพัวร์: วัตถุโลหะมันเงาโดยฝีมือการรังสรรค์ของศิลปินสาขาประติมากรรมระดับแนวหน้าของโลก ซึ่งสร้างภาพลวงที่จะพาเราหลีกหนีจากความจริงเข้าสู่มิติใหม่ๆ ผ่านรูปทรงสามเหลี่ยม ทรงกลม วงรี และสี่เหลี่ยมจัตุรัส
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานศิลปะทั้งหมดที่จัดแสดงใน เดอะ พรีลูด, BAB Box โครงการวันแบงคอก และ เดอะ ปาร์ค ยังมีผลงานที่น่าสนใจอีกมากมายที่รอให้คุณได้เข้าไปสัมผัสด้วยตัวเอง โดยเทศกาลบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 เปิดให้ทุกท่านสามารถรับชมโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชมแล้วตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2564
ติดตามข้อมูลข่าวสาร และตารางกิจกรรมของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 ได้ทาง www.bkkartbiennale.com และโซเชียลมีเดีย Facebook และ Instagram: Bkkartbiennale
* ดูอัลบั้มภาพได้ ที่นี่