วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ช. การช่าง มั่นใจแนวโน้มอุตสาหกรรมก่อสร้างครึ่งหลังปี 63 ฟื้นตัวดี พร้อมเดินหน้าประมูลโครงการใหม่ตามแผนสนับสนุนเศรษฐกิจไทยสู่ยุค New Normal


เผยผลประกอบการปี 62 แข็งแกร่ง ด้วยรายได้รวม 2.4 หมื่นล้าน กำไรสุทธิ 1,778 ล้านบาท




ช. การช่าง เผยบริษัทเตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อเดินหน้าอย่างแข็งแกร่งในช่วงครึ่งหลังปี 2563 ในการประมูลโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะกลับมาเริ่มประมูลตามแผนอีกครั้งหลังจากวิกฤตโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย มั่นใจในจุดแข็งที่โดดเด่นทั้งจากศักยภาพการผนึกกำลังของบริษัทในเครือ พร้อมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญอันยาวนานด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีการก่อสร้างระดับสูงในเมกะโปรเจกต์ที่หลากหลาย ตลอดจนแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Plan: BCP) ที่ชัดเจนและพร้อมปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อการดำเนินธุรกิจในรูปแบบที่เปลี่ยนไปสู่ New Normal อย่างไม่สะดุด โดยตั้งเป้ารายได้ปี 2563 ที่ 20,000 ล้านบาท 

นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เปิดเผยว่าสำหรับในปี 2563 บริษัทฯ ยังคงมุ่งไปที่การพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ตามโมเดลธุรกิจแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ซึ่งสามารถดำเนินการได้รวดเร็ว คล่องตัว และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ โดยอาศัยความแข็งแกร่งของกลุ่ม CK ซึ่งเป็นการผนึกกำลังของบริษัทต่างๆในเครือทั้ง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) หรือ TTW และ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP โดยการดำเนินธุรกิจด้วยกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานมาต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้บริษัทได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ไม่มากนักและยังสามารถสร้างกระแสรายได้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง มั่นใจในความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลงานโครงการสาธารณูปโภคใหม่ต่างๆของภาครัฐทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศที่คาดว่าจะกลับมาเดินหน้าตามแผนในช่วงครึ่งปีหลังเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยสู่ New Normal

นางสาวสุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า ณ สิ้นปี 2562 บริษัทฯ มีงานในมือ (Backlog) มูลค่า 38,515 ล้านบาท มีผลงานความสำเร็จที่สำคัญและเป็นความภาคภูมิใจของบริษัทคือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรีซึ่งก่อสร้างเสร็จสิ้น ส่งมอบ และเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคม 62 และโครงการรถไฟฟ้าสาย สีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายระยะที่ 2 (สถานีหัวลำโพง – สถานีหลักสอง) ซึ่งได้ทะยอยเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่กันยายน 62 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ครบทั้งสายในเดือนมีนาคม 63 ที่ผ่านมา ซึ่งทั้ง2โครงการเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีความท้าทายด้านวิศวกรรม แต่บริษัทสามารถส่งมอบงานคุณภาพได้ตามแผนงานและภายใต้งบประมาณ

ในปี 2562 บริษัทมีรายได้รวม 24,797 ล้านบาท กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท จำนวน 1,778 ล้านบาท มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ร้อยละ 8.61%.

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 บริษัทไม่ได้รับผลกระทบทางตรงใดๆต่อรายได้ก่อสร้างและได้รับผลกระทบทางอ้อมเล็กน้อยจากการลงทุนเท่านั้น เนื่องจากเรามีแผนบริหารความเสี่ยงและแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ Business Continuity Plan (BCP) ที่ชัดเจนสำหรับการดำเนินธุรกิจทั้งในโครงการก่อสร้างและสำนักงานใหญ่ พร้อมแนวปฏิบัติในการดูแลความปลอดภัย สุขอนามัยอย่างเต็มที่ กลยุทธ์การมุ่งลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานหลากหลายทำให้บริษัทได้รับผลกระทบด้านรายได้น้อยเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น ส่วนการดำเนินธุรกิจในอนาคตและแผนการประมูลงานของเราก็ไม่ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 63 นี้ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งเป็นกลจักรหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะมีการทยอยเปิดประมูลออกมาตามแผน เราจึงพร้อมเดินหน้าสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐเพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทยไปสู่ New Normal โดยโครงการที่เราให้ความสำคัญ คือ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก มูลค่ากว่า 120,000 ล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีม่วงด้านใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มูลค่า 77,000 ล้านบาท และโครงการรถไฟทางคู่ที่ผ่าน EIA แล้ว 3 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 180,000 ล้านบาท สำหรับในต่างประเทศ ขณะนี้ CKP อยู่ระหว่างเจรจาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งใหม่ในลาว มูลค่าใกล้เคียงกับ ไซยะบุรี มั่นใจว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในปีนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 2563 ไว้ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท 

นอกจากนี้ในช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทยังได้รับรางวัลจากองค์กรภาครัฐและเอกชนต่างๆมากมาย ทั้งรางวัลการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย ประจำปี 2562 จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รางวัลดีเด่นด้านการบริหารจัดการอาชีวอนามัย จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รางวัล Environmental Social and Governance 100 (ESG100) สถาบันไทยพัฒน์ และรางวัล “Drive Award 2019” บริษัทที่มีนวัตกรรมมีการบริหารจัดการเป็นเลิศ ในกลุ่มธุรกิจ Property and Construction จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

สำหรับโครงการต่าง ๆ ที่กำลังดำเนินการ มีความคืบหน้าตามแผนที่วางไว้ โดย ณ เดือนธันวาคม 2563 มีรายละเอียด ดังนี้

  • โครงการมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน – นครราชสีมา สัญญาที่ 3 ความคืบหน้าร้อยละ 84
  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี) สัญญาที่ 1 ความคืบหน้าร้อยละ 44.80, สัญญาที่ 2 ความคืบหน้าร้อยละ 36.70 และสัญญาที่ 5 ความคืบหน้าร้อยละ 48.20 
  • โครงการทางพิเศษพระราม 3 – ดาวคะนอง สัญญาที่ 4 สะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ความคืบหน้าร้อยละ 0.1

ขณะเดียวกัน บริษัทยังมุ่งสนับสนุนการดำเนินโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุมรอบด้านในทุกมิติ เริ่มจากการเลือกโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศ การดูแลสิ่งแวดล้อมชุมชนและสังคมเพื่อลดผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการบริหารตามหลักธรรมมาภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนั้นบริษัทยังดำเนินโครงการต่างๆอย่างต่อเนื่องเช่น ด้านการส่งเสริมการศึกษาแก่เยาวชน ด้านกิจกรรมสาธารณกุศล การช่วยเหลือและสนับสนุนบุคลากรด้านสาธารณสุขและการแพทย์ในภารกิจสู้ภัยโควิด-19 ตลอดจนการใช้ศักยภาพด้านงานช่างและวิศวกรรม ในการสนับสนุนกิจกรรม “โครงการส่งเสริมนวัตกรรมช่างชุมชน” ซึ่งทั้งหมดล้วนสอดคล้องกับพันธกิจของ ช. การช่าง ในการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนโดยมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนและพัฒนาประเทศผ่านโครงสร้างพื้นฐานและการคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม 


          

คลิกที่รูปเพื่อดูภาพขยาย