วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2561

เมอร์ค เดินหน้าสนับสนุนการผลิตวัคซีนราคาไม่แพง หวังให้ทั่วโลกเข้าถึงได้ง่ายขึ้น




  • ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดพัฒนากระบวนการผลิตวัคซีนที่ใช้ต้นทุนไม่สูง ช่วยให้ผลิตวัคซีนได้มากขึ้น
  • วางแผนสร้างโรงงานผลิตวัคซีนแห่งใหม่ในประเทศกานา เพื่อช่วยให้ทวีปแอฟริกาสามารถรับมือกับความท้าทายด้านสุขภาพได้ดีขึ้น

ดาร์มสตัดท์, เยอรมนี -  เมอร์ค (Merck) บริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำ ประกาศสร้างความร่วมมือกับสถาบันเจนเนอร์ (Jenner Institute) แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และยังมีแผนสร้างโรงงานผลิตวัคซีนในประเทศกานา ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการยกระดับสาธารณสุขทั่วโลก ด้วยการทำให้วัคซีนมีราคาถูกลงและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

อูดิท บาทรา สมาชิกคณะกรรมการบริหารของเมอร์ค และซีอีโอกลุ่มธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า “การสร้างความร่วมมือกับสถาบันเจนเนอร์จะช่วยให้ทั่วโลกเข้าถึงวัคซีนราคาไม่แพง และช่วยยกระดับการรับมือกับการระบาดของโรคด้วย เมอร์คมุ่งยกระดับการเข้าถึงยารักษาโรคที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง เราได้จับมือกับพันธมิตรหลายรายเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตวัคซีนในปัจจุบัน และช่วยแก้ปัญหาที่ยากที่สุดในอนาคต”

เมอร์คและสถาบันเจนเนอร์จะช่วยกันยกระดับกระบวนการผลิตวัคซีนอะดีโนไวรัส (วัคซีนที่มีอะดีโนไวรัสเป็นพาหะ) โดยใช้ผลิตภัณฑ์ ระบบ และเทคโนโลยี feed stream ของเมอร์ค โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตที่ใช้ต้นทุนไม่สูงและสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีได้ ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาและผลิตวัคซีนทั่วโลกมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น 

เอเดรียน ฮิลล์ ผู้อำนวยการสถาบันเจนเนอร์แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า “เมอร์คเป็นพันธมิตรชั้นยอดที่ช่วยเพิ่มศักยภาพของเราในการพัฒนาวัคซีนอะดีโนไวรัส เราเชื่อว่ากระบวนการผลิตที่พัฒนาขึ้นใหม่จะมีผลิตภาพและความบริสุทธิ์เทียบเท่าหรือสูงกว่ากระบวนการผลิตที่ใช้อยู่เดิม”

ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันพัฒนากระบวนการผลิตแบบปิดในห้องปลอดเชื้อเพื่อให้มีการปนเปื้อนน้อยที่สุด ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดความปลอดภัยทางชีวภาพขั้นสูงสำหรับการผลิตวัคซีนจากไวรัส

คุณฮิลล์กล่าวเสริมว่า “ความก้าวหน้าในครั้งนี้จะช่วยยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาฉีดเกรดคลินิก เพื่อใช้ในการทดสอบทางคลินิกและการวิจัยต่างๆ”

เมอร์คเตรียมสร้างโรงงานผลิตวัคซีนในกานา

ขณะเดียวกัน เมอร์คกำลังวางแผนสร้างโรงงานผลิตวัคซีนในประเทศกานา เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสุขภาพในทวีปแอฟริกา ซึ่งต้องนำเข้าวัคซีนมากถึง 99% จากทั้งหมดที่จำเป็นต้องใช้ โดยเมอร์คได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับบริษัท ริดจ์ แมเนจเมนท์ โซลูชั่นส์ (Ridge Management Solutions) เพื่อผลักดันให้กานาเป็นประเทศแรกในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮาราที่มีโรงงานผลิตวัคซีนสำหรับมนุษย์โดยเฉพาะ

คุณบาทรากล่าวเสริมว่า “เราต้องการสนับสนุนประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ด้วยการแบ่งปันความเชี่ยวชาญของเรา เพื่อช่วยปรับปรุงกระบวนการผลิตของประเทศเหล่านี้ พร้อมกับสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการสร้างโรงงานผลิตภายในประเทศ”

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้างความร่วมมือระหว่างเมอร์คกับพันธมิตรในแวดวงวัคซีนเพื่อแก้ปัญหาที่ท้าทายที่สุดในการผลิตวัคซีน สามารถดูได้ที่ www.merckmillipore.com/vaccines

เกี่ยวกับสถาบันเจนเนอร์

สถาบันเจนเนอร์ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548 เพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคที่มีการระบาดทั่วโลก ทั้งโรคในคนและสัตว์ พร้อมกับทำการทดสอบวัคซีนใหม่ในสปีชีส์ต่างๆ ทางสถาบันมุ่งเน้นงานวิจัยที่สามารถนำไปต่อยอดได้ โดยเฉพาะการพัฒนาระยะเริ่มต้นและการประเมินผลวัคซีนใหม่ๆ ในการทดลองทางคลินิก

ทางสถาบันมีนักวิจัยหลักกว่า 30 คน เป็นผู้นำทีมนักวิจัยในโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนสำหรับคนและสัตว์หลายต่อหลายโครงการ โดยสถาบันเจนเนอร์ดำเนินกิจกรรมการวิจัยและพัฒนาวัคซีนมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ในบรรดาองค์กรไม่แสวงผลกำไรทั้งหมด 

นักวิจัยของสถาบันเจนเนอร์กำลังพัฒนาวัคซีนใหม่ๆ สำหรับป้องกันโรคติดเชื้อทั่วโลก โดยได้รับความอนุเคราะห์จากผู้สนับสนุนหลายราย ปัจจุบัน วัคซีนตัวใหม่สำหรับป้องกันมาลาเรีย วัณโรค และเอชไอวี กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบภาคสนามในประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนั้นยังมีการวิจัยวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อยในสัตว์ โรคไข้หวัดนก วัณโรคในโค และโรคอื่นๆที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ 

สถาบันเจนเนอร์เกิดจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) กับสถาบันเพอร์ไบรท์ (The Pirbright Institute) โดยรับช่วงต่อจากสถาบันวิจัยวัคซีนเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ ทั้งนี้ สถาบันเจนเนอร์ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิวัคซีนเจนเนอร์ (Jenner Vaccine Foundation) ซึ่งจดทะเบียนในสหราชอาณาจักร และมีคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของสถาบันเจนเนอร์ (Jenner Institute Scientific Advisory Board) เป็นที่ปรึกษา 

เกี่ยวกับ ริดจ์ แมเนจเมนท์ โซลูชั่นส์

ในปีหน้า มีโอกาส 5% ที่พายุเฮอร์ริเคนจะทำให้บริษัทประกันสูญเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ และในอีก 12 เดือนข้างหน้า มีโอกาส 1% ที่แผ่นดินไหวจะทำให้บริษัทประกันสูญเงิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ดังนั้น ริดจ์ แมเนจเมนท์ โซลูชั่นส์ หรือ RMS จึงมีหน้าที่สร้างแบบจำลองเพื่อช่วยให้บริษัทประกันและนักลงทุนเข้าใจถึงความเสี่ยงของมหันตภัยต่างๆ ทั้งภัยธรรมชาติ (พายุเฮอร์ริเคน แผ่นดินไหว น้ำท่วม) การก่อการร้าย โรคระบาด รวมถึงอายุขัยของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไป

เราเป็นบริษัทรูปแบบใหม่ที่คุณอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน เรามีลูกค้าหลายร้อยรายในแวดวงประกัน การธนาคาร และเฮดจ์ฟันด์ เราคือผู้นำ ผู้บุกเบิก และผลงานของเราได้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในระดับโลก เราทำให้ทั่วโลกเข้าใจมหันตภัยต่างๆมากขึ้น เพื่อให้สามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ความสามารถในการทำความเข้าใจและจัดการความเสี่ยงของเรามีผลต่อทุกคน

เรายกระดับวิสัยทัศน์ด้วยการนำเสนอโซลูชั่นคลาวด์แห่งอนาคตอย่าง “RMS(one)” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มบริหารความเสี่ยงทั่วโลกอันทันสมัย RMS(one) จะนำเสนอภาพรวมทั้งหมดขององค์กรผ่านแพลตฟอร์มเดียว โดยใช้ได้กับทุกโมเดลธุรกิจ ทุกมุมมอง และทุกข้อมูล

ทั้งนี้ RMS มีพนักงาน 1,200 คน ใน 11 ประเทศ โดยมีสำนักงานในเมืองนวร์ก (รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา), เมืองโนอิดา (อินเดีย), กรุงลอนดอน (สหราชอาณาจักร), เมืองโฮโบเคน (รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา) และเมืองซูริก (สวิตเซอร์แลนด์) 

เกี่ยวกับเมอร์ค

เมอร์ค คือบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำในด้านการดูแลสุขภาพ ชีววิทยาศาสตร์ และเพอร์ฟอร์แม้นซ์ แมททิเรียล พนักงานราว 52,000 คนของบริษัทได้ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยปรับปรุงและยกระดับคุณภาพชีวิต ตั้งแต่ชีวเภสัชภัณฑ์เพื่อรักษาโรคมะเร็งหรือโรคปลอกประสาทอักเสบ ระบบที่ทันสมัยสำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการผลิต ไปจนถึง liquid crystal ที่ใช้กับสมาร์ทโฟนและโทรทัศน์ LCD ทั้งนี้ ในปี 2560 เมอร์คทำยอดขายได้ 1.53 หมื่นล้านยูโร ใน 66 ประเทศ

เมอร์ค เป็นบริษัทเภสัชภัณฑ์และเคมีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2211 และปัจจุบันครอบครัวผู้ก่อตั้งยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมอร์คครอบครองสิทธิ์ในชื่อและแบรนด์ "เมอร์ค" ทั่วโลก ยกเว้นในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ซึ่งบริษัทดำเนินธุรกิจในชื่อ อีเอ็มดี โซโรโน่, มิลลิพอร์ซิกม่า และอีเอ็มดี เพอร์ฟอร์แม้นซ์ แมททิเรียล

ข้อมูลจาก: พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์