วันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2560

30 ข้อควรรู้...สำหรับคุณแม่มือใหม่




ข้อมูลความรู้โดย แพทย์หญิง ธาริณี ลำลึก
สูตินารีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลพญาไท 2 (สนามเป้า)

เคล็ดไม่ลับฉบับคุณแม่ควรรู้จากคุณหมอสูตินรีเวชมา ว่าที่คุณแม่มือใหม่จะได้รู้และเข้าใจร่างกายตนเอง เพื่อใช้ชีวิตระหว่างตั้งครรภ์ได้อย่างไร้กังวล ถ้าจะให้ดี อย่าลืมแชร์ข้อมูลให้ว่าที่คุณพ่อมือใหม่ได้อ่านกันด้วยนะคะ

การเตรียมตัวเมื่อรู้ว่าการตั้งครรภ์และการฝากท้อง

1. หากคุณแม่สงสัยว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์หรือเปล่า สามารถสังเกตได้จากอาการเหล่านี้ค่ะ นั่นคือ ประจำเดือนไม่มาตามกำหนด ปัสสาวะบ่อย เวียนหัวหรือคลื่นไส้ บางคนอาจมีอาการเหนื่อยหรือง่วง

2. ควรฝากท้องทันทีที่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ เพื่อตรวจเช็คร่างกายอย่างละเอียด ทำให้การตั้งครรภ์ปลอดภัย หากมีโรคแทรกซ้อนจะได้รักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ หากคุณแม่มีโรคประจำตัว ควรแจ้งคุณหมอตั้งแต่ตอนฝากท้อง เพื่อประเมินอาการและควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

อาหารและโภชนาการ

3. คุณแม่สามารถกินอาหารได้ตามปกติเหมือนก่อนตั้งครรภ์ โดยมีหลักการง่ายๆ คือ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และช่วงตั้งแต่เดือนที่ 3 อาจเน้นอาหารประเภทโปรตีน แคลเซียม และธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นกับทารกในครรภ์ เสริมวิตามินและเกลือแร่ให้มากขึ้น เพื่อให้ได้รับสารอาหารเพียงพอทั้งคุณแม่และลูก

4. ไม่ควรกินอาหารประเภทแป้ง น้ำตาลและไขมันมากเกินไป เพราะช่วงตั้งครรภ์ ร่างกายไม่ต้องการสารอาหารประเภทนี้มาก เพราะไม่ได้ใช้ในการพัฒนาการหรือเพิ่มขนาดอวัยวะทารกในครรภ์ แต่คาร์โบไฮเดต และไขมันจะสะสมที่ร่างกายแม่แทน ทำให้หลังคลอดจะมีน้ำหนักอยู่ที่ตัวคุณแม่มากเกินไป

5. คุณแม่ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 6-8 แก้ว เพราะน้ำเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการสร้างน้ำคร่ำที่หล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการท้องผูก ทำให้ขับถ่ายได้สะดวกมากขึ้น หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์

6. สำหรับคุณแม่ที่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ควรเลือกกินอาหารอ่อนๆ ที่ย่อยง่าย หรือเครื่องดื่มที่มีรสหวานที่ช่วยให้ร่างกายสดชื่น หลีกเลี่ยงอาหารมัน รสจัด อาจแบ่งกินเป็นมื้อเล็กๆ วันละ 4-6 มื้อ กินเท่าที่อิ่ม เพื่อไม่ให้คุณแม่เครียดจนเกินไป

7. หากคุณแม่อยากเช็คว่าร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอหรือไม่ สามารถดูได้จากน้ำหนักของคุณแม่ในแต่ละช่วง ควรให้ได้น้ำหนักตามเกณฑ์ในแต่ละเดือนค่ะ (สามารถดูเกณฑ์น้ำหนักที่ควรขึ้น ได้ที่ข้อ18)

การใช้ยาสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

8. หากคุณแม่ป่วยระหว่างตั้งครรภ์ ควรปรึกษาคุณหมอในการใช้ยารักษาโรค หากอาการไม่หนักมาก อาจใช้วิธีแบบธรรมชาติช่วย เช่น มีเสมหะ - ดื่มน้ำอุ่นผสมน้ำมะนาว, คัดจมูก มีน้ำมูก - ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือหรือดมน้ำมันหอมระเหย, เป็นหวัด - ดื่มน้ำมากๆ เป็นต้น

9. หากคุณแม่มีอาการแพ้ท้องมากๆ อาจกินวิตามินบี 6 และยาไดแมนโฮดริเนต เพื่อช่วยลดอาการแพ้ท้อง ทั้งสองตัวนี้เป็นยาปลอดภัยกับทารกในครรภ์ แต่ถ้ามีอาการไม่มาก อยากให้เลี่ยงการใช้ยาดีกว่าค่ะ

การใช้ชีวิตประจำวัน

10. ในระหว่างที่ตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถทำงานได้ปกติ ถ้าไม่ใช่งานที่ต้องใช้กำลังหรือยกของหนัก อาจพักผ่อนระหว่างวัน เพราะร่างกายอาจอ่อนเพลียได้ง่าย คุณแม่ควรพักผ่อนอย่างน้อย 10 ชั่วโมงต่อวัน คือ กลางคืน 8 ชั่วโมงและกลางวัน 2 ชั่วโมง

11. สำหรับสายสปอร์ต ก็ยังออกกำลังกายได้นะคะ เพราะช่วยให้คุณแม่ได้ยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ ลดอาการปวดและอาการบวมต่างๆ ระหว่างตั้งครรภ์ อาจปรึกษากับคุณหมอเรื่องประเภทกีฬาและวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมในแต่ละช่วงการตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์ค่ะ

12. อีกหนึ่งเรื่องที่คุณแม่มือใหม่หลายๆ คนกังวล คือ การเดินทาง เพราะกลัวว่าจะกระทบกระเทือนกับทารกในครรภ์ ช่วง 3 เดือนแรก สามารถเดินทางได้ปกติ แต่อาจมีการเตรียมอุปกรณ์สำหรับหนุนท้อง เพื่อให้นั่งได้สบายตัว ถ้าเดินทางไกลอาจเตรียมอาหารและน้ำติดตัวไว้ค่ะ หลังจากอายุครรภ์ตั้งแต่ 3 เดือนเป็นต้นไป หากต้องเดินทางไกล ควรปรึกษาคุณหมอเป็นกรณีๆ ไปค่ะ

13. สำหรับเรื่องกุ๊กกิ๊กกับคุณสามีก็ยังมีได้ตามปกติในช่วงอายุครรภ์ 3 - 6 เดือน แต่ควรระวังการใช้ท่าที่เป็นอันตรายหรือต้องกระแทกกับท้องโดยตรง ในบางกรณีอาจงดมีเพศสัมพันธ์เพื่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์ โดยควรงดช่วง 3 เดือนก่อนคลอดในรายที่มีเลือดออกทางช่องคลอดระหว่างตั้งครรภ์ และคุณแม่ที่มีประวัติการแท้ง

14. อันนี้อาจเป็นข้อมูลทั่วไปที่คุณแม่ทราบอยู่แล้ว นั่นคือ ควรงดสูบบุหรี่และใช้สารเสพติด เพราะอาจมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนหรือภาวะครรภ์เสี่ยงได้ค่ะ

การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จิตใจ และอาการที่มักเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์

15. คุณแม่จะปัสสาวะบ่อยขึ้น เพราะมดลูกขยายตัวไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ อาจใช้วิธีการจิบน้ำบ่อยๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำที่เพียงพอและไม่ต้องลุกเข้าห้องน้ำบ่อย

16. ในช่วง 2-3 เดือนแรก อาจมีการคัดตึงที่หน้าอก คล้ายๆ ช่วงก่อนมีประจำเดือน เป็นการปรับสภาพของต่อมน้ำนมให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ อาการจะค่อยๆ หายไปเองค่ะ

17. อาการแพ้ท้องของคุณแม่แต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน จะเกิดในช่วง 2-3 เดือนแรกหรือมากกว่านั้น และมักมีอาการคลื่นไส้ เวียนหัว หน้ามืดเป็นลมร่วมด้วย หากมีอาการแพ้ท้องมาก ควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อลดความกังวลและใช้วิธีการที่ถูกต้อง ปลอดภัยในการช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องค่ะ

18. น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เพราะกำลังมีอีกหนึ่งชีวิตค่อยๆ เติบโตในท้องของคุณแม่ โดยเฉลี่ยตลอดการตั้งครรภ์ควรขึ้น 10-14 กก. เดือนที่ 1-3 ควรขึ้นประมาณ 1-2 กก., เดือนที่ 4-5 ควรขึ้นประมาณ 1-1.5 กก. และตั้งแต่เดือนที่ 6 เป็นต้นไป ควรขึ้นเดือนละ 1.5-2 กก.

19. อารมณ์ของคนที่ตั้งครรภ์อาจแปรปรวนมากกว่าปกติ เพราะผลจากฮอร์โมนและความกังวลในเรื่องต่างๆ จากการตั้งครรภ์ เช่น เรื่องพัฒนาการของลูก รูปร่างของตนเองที่เปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้คุณแม่หงุดหงิดและเครียดง่าย เพื่อนที่ดีที่สุดของคุณแม่ นั่นคือ สามีหรือคุณพ่อนั่นเอง การให้กำลังใจ ปลอบใจ และดูแลด้วยความอบอุ่นจะช่วยคุณแม่ได้เยอะเลยค่ะ

20. ในระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่บางคนอาจมีฝ้าหรือสีผิวคล้ำลงบริเวณหน้า คอ รักแร้ เส้นกลางท้อง ลานนม หรือหัวนม ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่กระตุ้นเซลล์เม็ดสีใต้ผิวหนัง คุณแม่ควรทำจิตใจให้สบาย เพราะอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นและหายไปเองในช่วงหลังคลอด 3-6 เดือน ส่วนการแตกลายของผิวหนังขึ้นอยู่ความยืดหยุ่นของผิวแต่ละคน วิธีการดูแลผิวระหว่างตั้งครรภ์ นั่นคือ การบำรุงผิวตามปกติ อาจนำสกินแคร์ที่ใช้ไปปรึกษาคุณหมอ เพื่อความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์

21. คุณแม่อาจมีตกขาวเป็นเรื่องปกติระหว่างตั้งครรภ์ ลักษณะตกขาวที่ปกติคือ สีขาวขุ่น ไม่มีกลิ่นหรืออาการคัน เกิดจากฮอร์โมนกระตุ้นให้ร่างกายสร้างมูกในช่องคลอด โดยจะมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงช่วงคลอด หากตกขาวมีสีเหลือง-เขียว มีกลิ่นเหม็นหรืออาการคัน ควรรีบปรึกษาคุณหมอค่ะ

22. อีกหนึ่งอาการยอดฮิตที่คุณแม่ต้องเจอคือการปวดหลัง เพราะคุณแม่ต้องแบกรับน้ำหนักของทารกที่ใหญ่ขึ้นทุกๆ เดือน สามารถลดอาการได้ด้วยการนั่งให้ถูกท่าและฝึกบริหารร่างกาย ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนักและสวมรองเท้าส้นสูงค่ะ

23. สำหรับคุณแม่ที่เพิ่งท้องอ่อนๆ อาจมีอาการปวดหน่วงบริเวณท้องน้อยหลายครั้งต่อวัน เนื่องจากการเกร็งตัวของมดลูกเล็กน้อย หากปวดหน่วงบ่อยและมากกว่า 5 ครั้งติดต่อกันหลายชั่วโมง อาจเสี่ยงต่อการแท้งหรือการคลอดก่อนกำหนด ควรรีบปรึกษาคุณหมอ

24. คุณแม่อาจเป็นตะคริวที่น่อง เกิดจากที่ยืนหรือนั่งนานเกินไป ร่วมกับการที่ระดับแคลเซียมในเลือดลดลง เพราะนำไปใช้สร้างกระดูกของทารกในครรภ์ ควรกินอาหารที่แคลเซียมให้มากและนวดบริเวณน่องหลังจากที่เดินมากๆ

อาการผิดปกติที่ควรระวัง

25. ในช่วง 3-4 เดือนก่อนคลอด คุณแม่อาจมีอาการบวมบริเวณขาและเท้า หากเป็นเพียงเล็กน้อย ให้นั่งเหยียดขาหรือหนุนเท้าให้สูงขึ้นเวลานอน หากมีอาการบวมมาก เวลาที่ใช้นิ้วมือกด ผิวหนังเป็นรอยบุ๋มลึกมาก อาจแสดงถึงภาวะผิดปกติบางอย่าง เช่น ครรภ์เป็นพิษหรือโรคไตบางชนิด ควรรีบปรึกษาคุณหมอ

26. หากพบอาการผิดปกติต่างๆ เช่น เลือดออกทางช่องคลอดในปริมาณมาก, ปวดท้อง, ทารกไม่ดิ้นหรือดิ้นน้อยลง, ตาพร่ามัว เป็นต้น ควรไปพบคุณหมอทันที โดยไม่ต้องรอให้ถึงกำหนดนัดพบ

สัญญาณเตือนก่อนคลอด

27. เมื่อใกล้ถึงกำหนดวันคลอด อาจมีอาการเจ็บท้องน้อยบริเวณมดลูก เป็นๆ หายๆ ไม่ถี่มาก เรียกว่า การเจ็บท้องเตือน เมื่อนอนพักก็จะหายไปเอง

28. สัญญาณที่บอกว่าคุณแม่จะคลอดจริงๆ มีดังนี้

  • อาการเจ็บท้องจริง จะปวดเกร็งบริเวณหน้าท้องหรือปวดร้าวบริเวณก้นกบ จะปวดทุก 4-5 นาที เกิดจากที่มดลูกบีบตัวและคลายตัว
  • “น้ำเดิน” อาการที่ของเหลวใสไหลออกมาจากช่องคลอดในปริมาณมาก เกิดจากน้ำคร่ำรอบตัวทารกแตกหรือรั่ว
  • มีเลือดปนมูกไหลออกมาจากช่องคลอด

ถ้าคุณแม่มีอาการเหล่านี้ ควรรีบมาพบคุณหมอทันที

ข้อควรรู้สำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

29. วิธีกระตุ้นการผลิตนมแม่ที่ดีที่สุดคือ การให้ลูกมาดูดกระตุ้นบ่อยๆ เพื่อบอกให้ร่างกายผลิตน้ำนมมากขึ้น คุณแม่จะได้มีน้ำนมสม่ำเสมอ โดยน้ำนมในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด จะเป็นสีเหลืองใสและมีน้อย ซึ่งเป็นน้ำนมที่มีคุณค่าทางอาหารเพียงพอต่อทารกแรกคลอด ช่วยขับขี้เทาและป้องกันอาการตัวเหลือง ส่วนน้ำนมปกติจะเริ่มผลิตภายใน 4-5 วันหลังจากคลอด

30. คุณแม่ควรให้นมแม่เพียงอย่างเดียว 4-6 เดือน โดยไม่ต้องให้น้ำหรืออาหารเสริมอื่นๆ เพราะในนมแม่มีสารอาหารครบถ้วนและน้ำเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของเจ้าตัวเล็กอยู่แล้ว แถมยังช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและช่วยป้องกันโรคในทารกอีกด้วย

อ่านจบ 30 ข้อ ว่าที่คุณแม่มือใหม่ทุกท่านคงเข้าใจร่างกายของตัวเองมากขึ้น รู้ถึงวิธีปฏิบัติ และการดูแลตัวเองต่างๆ หากยังมีความกังวล แนะนำให้คุณแม่เชื่อในสัญชาตญาณความเป็นแม่ และอาจปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและคุณย่า คุณยาย ผู้ที่มีประสบการณ์ตรงดูค่ะ รับรองว่าได้เทคนิคหรือคำแนะนำดีๆ แน่นอนค่ะ

“เรื่องผู้หญิงให้พญาไท 2 ดูแล” 
ดูแลสุขภาพเป็นประจำ แล้วเจอกันแค่วันตรวจสุขภาพประจำปีก็พอ เพราะสุขภาพดีเริ่มต้นที่ตัวคุณ 30 ปี โรงพยาบาลพญาไท 2 Center of Excellence สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สุขภาพผู้หญิง โทร. 02-617-2444 ต่อ 4268-9 หรือ Phyathai Call Center 1772 
โรงพยาบาลพญาไท 2 เป็นศูนย์การแพทย์ที่ให้บริการครบวงจรทันสมัย เพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้รับบริการ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2530 บนเนื้อที่กว่า 11,204 ตรม.สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 550 เตียง ด้วยแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการรักษาที่ทันสมัย และมีศูนย์ที่โดดเด่น อาทิ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพและอาชีวเวชศาสตร์ ศูนย์การรักษาหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ศูนย์สุขภาพผู้หญิง ศูนย์สมองและระบบประสาท ศูนย์หัวใจ ศูนย์กล้ามเนื้อกระดูกและข้อ ศูนย์ทางเดินอาหาร เป็นต้น มีค่าเฉลี่ยผู้ป่วยนอก 50,000 ราย/เดือน และค่าเฉลี่ยผู้ป่วยใน 1,600 ราย/เดือน และได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากล JCI และ การรับรองความเชี่ยวชาญรายโรค CCPC ด้านโรคหลอดเลือดสมองตีบอุดตันเฉียบพลัน และ ด้านการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ และเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่ได้รับการรับรองการประกันคุณภาพและความพึงพอใจของลูกค้า 
โดยตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ทิศทาง นโยบายและภารกิจที่ โรงพยาบาลจะต้องทำให้ดีที่สุด คือ การรักษาผู้ป่วยให้หายเจ็บป่วย และออกไปใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ด้วยบริการของโรงพยาบาลที่ดีเยี่ยมสร้างความอุ่นใจ วางใจในประสิทธิภาพการรักษาให้กับผู้ป่วย ในขณะเดียวกันก็ต้องมีหน้าที่สร้างสังคมสุขภาพดี ทั้งการให้ความรู้ด้านการแพทย์ การรักษา และการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคที่ถูกต้องเชื่อถือได้แก่สังคม ตามที่ นพ.อนันตศักดิ์ อภัยรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 ได้เคยให้หลักการสำคัญไว้แก่บุคคลากรทุกระดับงาน