วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ยูโอบี ฟินแล็บ เปิด 6 โครงการนำร่องกรีนเทคของไทย เตรียมพร้อมรับมือปัญหาท้าทายด้านความยั่งยืนในไทย




ยูโอบี ฟินแล็บ (UOB FinLab) หน่วยงานส่งเสริมนวัตกรรมของ ธนาคารยูโอบี ได้มอบเงินทุนสนับสนุนมูลค่ารวมกว่า 2.7 ล้านบาท (100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์) ให้แก่บริษัทด้านเทคโนโลยีสีเขียว หรือกรีนเทค (GreenTech) ที่ได้รับการคัดเลือก เพื่อนำร่องโซลูชันด้านความยั่งยืน 15 โครงการร่วมกับยูโอบีและองค์กรพันธมิตรต่างๆ ทั่วภูมิภาคอาเซียน โดยมีบริษัทกรีนเทคของไทย 5 บริษัทได้รับคัดเลือกและรับเงินทุนสนับสนุนเพื่อนำร่อง 6 โซลูชันสำหรับยูโอบี ประเทศไทย และหน่วยงานพันธมิตร โดยบริษัทและโครงการที่ได้รับคัดเลือกทั้งหมดได้รับการเปิดตัวที่งาน GreenTech Accelerator 2024 Showcase Day ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Insights Forum ของ Singapore FinTech Festival

โครงการ GreenTech Accelerator 2024 เป็นโครงการระดับภูมิภาคครั้งที่ 2 ของยูโอบี ฟินแล็บ จัดขึ้นเป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้บริษัทกรีนเทคในอาเซียนสามารถขยายกิจการให้เติบโตและดำเนินการปรับเปลี่ยนองค์กร สร้างความร่วมมือกับพันธมิตร และสร้างโครงการนำร่องเพื่อรับมือกับปัญหา ท้าทายด้านความยั่งยืนทั่วทั้งภูมิภาค โครงการนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อเร่งการพัฒนาโซลูชันเทคโนโลยีที่ยั่งยืนในสิงคโปร์และประเทศต่างๆ ในอาเซียน สำหรับปีนี้บริษัทกรีนเทคจำนวน 33 แห่งผ่านการคัดเลือกจากผู้สมัครกว่า 350 รายเพื่อเข้าร่วมโครงการ โดย 12 บริษัทมาจากสิงคโปร์, 9 บริษัทมาจากมาเลเซีย และ 12 บริษัทมาจากประเทศไทย

นายบัลลังก์ ว่องธวัชชัย Head of Digital Engagement and FinTech Innovation ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “โครงการ GreenTech Accelerator 2024 แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของธนาคารในการสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืน โดยอาศัยการดำเนินงาน เครือข่ายบุคลากรที่ทำงานร่วมกันเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนากรีนเทคที่สร้างผลกระทบเชิงบวกมากขึ้น และยูโอบี ฟินแล็บ จะยังคงทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่ส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมกรีนเทค โดยประสานงานให้บุคลากร องค์กรธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐและบริษัท กรีนเทคมารวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหาท้าทายด้านความยั่งยืนที่เกิดขึ้นจริง เราเชื่อว่าด้วยการสนับสนุนที่เหมาะสมจากเครือข่ายที่แข็งแกร่งและทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง บริษัทกรีนเทคจะสามารถสร้างความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนของอาเซียน”

ปัญหาท้าทายที่แท้จริง โซลูชันที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม

จากผลสำรวจ Business Outlook Study 2024 (เอสเอ็มอี & องค์กรขนาดใหญ่) ของยูโอบี พบว่าองค์กรธุรกิจในอาเซียนร้อยละ 87 มองว่าความยั่งยืนมีความสำคัญต่อธุรกิจของตน แต่มีเพียงร้อยละ 44 เท่านั้นที่ปรับใช้แนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ในการปรับใช้แนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืน ประมาณ 1 ใน 3 ระบุว่า จำเป็นต้องมีการสนับสนุนเพื่อเชื่อมโยงกับพันธมิตรด้านโซลูชันที่เหมาะสม

เพื่อตอบสนองต่อความต้องการนี้ โครงการ GreenTech Accelerator 2024 จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาท้าทายด้านความยั่งยืนจากธุรกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงทั่วอาเซียน สำหรับในปีนี้ยูโอบีและองค์กรพันธมิตร 26 ราย รวมถึงศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี, สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ภิวัฒน์ และคิงด้อม ออร์แกนิค เนทเวิร์ค (Kingdom Organic Network) จากประเทศไทยจากประเทศไทย, DKSH Healthcare และ Ngee Ann Polytechnic จากสิงคโปร์ และ Great Cosmo จากมาเลเซียได้จัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาท้าทายมากกว่า 50 รายการ โดยครอบคลุม 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจหมุนเวียนและการจัดการขยะ การประหยัดพลังงาน อาหารและเกษตรกรรม เมืองที่ยั่งยืนและการวางผังเมือง การรายงานเกี่ยวกับความยั่งยืนและการจัดการคาร์บอน

ในระหว่างการดำเนินโครงการ บริษัทกรีนเทค 33 แห่งที่เข้าร่วมโครงการได้เสนอโซลูชันโดยอ้างอิงจากข้อมูลเรื่องปัญหาท้าทาย และมีโครงการนำร่อง 15 โครงการได้รับเลือกให้รับทุนสนับสนุนจากยูโอบี ฟินแล็บ ทั้งนี้ 6 โครงการนำร่องจากทั้งหมดจะถูกดำเนินการร่วมกับองค์กรพันธมิตรในประเทศไทย ส่วนที่เหลือ 3 โครงการจะดำเนินการในมาเลเซีย และอีก 6 โครงการในสิงคโปร์

นอกจากนี้ ยูโอบีจะดำเนินโครงการนำร่อง 5 โครงการภายในธนาคารยูโอบีในประเทศไทยและสิงคโปร์ โดยหนึ่งในโครงการนำร่องที่จะดำเนินการที่อาคารยูโอบี พลาซา กรุงเทพ (UOB Plaza Bangkok) คือ เทคโนโลยีของ AltoTech Global สำหรับการวิเคราะห์รูปแบบการใช้พลังงาน ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารฯ สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จะร่วมมือกับ บริษัท GEPP Sa-Ard ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีสีเขียว เพื่อนำร่องโครงการลดปริมาณขยะแบบบูรณาการสำหรับอีเวนต์ต่างๆ ที่จัดขึ้นในศูนย์การแสดงสินค้า โครงการนำร่องนี้จะช่วยให้อิมแพ็ค เมืองทองธานี ผู้จัดงาน และผู้เข้าร่วมงานสามารถลดปริมาณขยะ เพิ่มอัตราการรีไซเคิล และลดค่าใช้จ่ายโดยรวมในการจัดการขยะ นอกจากนั้น ร่วมมือกับ CERO ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทกรีนเทคที่ได้รับการคัดเลือก นำเสนอ Immersive Sustainability Solution ในการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการจัดงานอีเว้นท์และการเข้าร่วมอีเว้นท์แบบ Realtime นอกจากนั้น CERO จะร่วมมือกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จัดการแข่งขัน Carbon League ครั้งแรกของประเทศไทยเพื่อสนับสนุนการทำกิจกรรมด้านความยั่งยืนต่าง ๆ เช่น การรีไซเคิล การลดขยะ การเลือกอาหารที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ และการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนสนุกกับการตรวจสอบติดตามและลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของตนเองได้ด้วยพฤติกรรมง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน ส่งเสริมค่านิยมคาร์บอนต่ำในกลุ่มคนรุ่นใหม่

ยูโอบี ฟินแล็บ ภายใต้ความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร ได้คัดเลือกบริษัทกรีนเทคและโซลูชันนำร่องที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ด้วยเหตุผลที่ว่าโซลูชันเหล่านี้มีศักยภาพเพียงพอที่จะกำหนดมาตรฐานใหม่เกี่ยวกับแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรม พร้อมทั้งผลักดันการปรับใช้เทคโนโลยีสีเขียวอย่างแพร่หลายทั่วภูมิภาคอาเซียน

โครงการเพิ่มเติมสำหรับการขับเคลื่อนความยั่งยืนในอาเซียน

โครงการ GreenTech Accelerator 2024 ต่อยอดความสำเร็จจากโครงการแรกในปี 2022 ที่สิงคโปร์ ซึ่งมีผู้สมัครเข้าร่วมมากกว่า 150 ราย และนำไปสู่การจัดตั้งโซลูชันนำร่องและโครงการความร่วมมือ 8 รายการ สำหรับโครงการในปีนี้ มีการขยายขอบเขตของโครงการให้กว้างไกลออกไปนอกสิงคโปร์ โดยครอบคลุมตลาดหลักของยูโอบีในอาเซียนอย่างเช่นมาเลเซียและไทย

โครงการนี้เปิดโอกาสให้บริษัทกรีนเทคได้เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรมาสเตอร์คลาสภายใต้การดูแลของผู้ฝึกสอนระดับภูมิภาคกว่า 30 คน รวมไปถึงโอกาสในการสร้างเครือข่าย และโครงการดังกล่าวยังช่วยให้บริษัทกรีนเทคกระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นผ่านเครือข่ายที่กว้างขวางของยูโอบี ฟินแล็บ ซึ่งประกอบด้วยผู้นำด้านอุตสาหกรรมกว่า 27,000 ราย รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ผู้ให้บริการโซลูชัน ธุรกิจเอกชนและรัฐวิสาหกิจ

ยูโอบี ฟินแล็บ มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านความยั่งยืนในอาเซียน โดยมีแผนจะเปิดตัวโครงการอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งมุ่งเน้นการผลักดันการประยุกต์ใช้งานและการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านความยั่งยืนในปี 2025